Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ธันวาคม 2553

การค้า

FTAไทย-เปรู...อีกหนึ่งย่างก้าวที่น่าจับตามอง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3006)

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่การค้าระหว่างไทยและเปรูเป็นไปในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เพราะไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ส่วนเปรูส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ยังไม่ได้แปรรูป ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรูที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554 น่าจะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้านั้นน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง และสามารถใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมลงทุน เพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญของเปรูได้ ขณะที่ด้านการลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาลู่ทางด้านการตลาด กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศเปรู ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูยังมีไม่มาก อีกทั้งเป็นประเทศที่ห่างไกลจากไทย แต่จากระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรูที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.3[1] ในปี 2553 ประกอบกับจากสถิติการค้าที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูน่าจะยังขยายได้อีก อันหมายรวมถึงโอกาสกระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบลาตินอเมริกาอื่นๆที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าค่อนข้างใกล้ชิดต่อกันในระดับภูมิภาค ด้วยขนาดประชากรราว 382 ล้านคน และมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 4,204 ดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดลาตินอเมริกาจึงนับเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามอีกหนึ่งท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวที่ยังค่อนข้างเปราะบางของตลาดหลักเดิมของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น


[1] International Monetary Fund

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA