Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ธันวาคม 2553

การค้า

ส่งออกเดือน พ.ย. โตเกินคาด … สะท้อนความยืดหยุ่นของผู้ส่งออกไทย แต่ยังไม่เปลี่ยนภาพการชะลอตัวในปี 2554(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3009)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีมูลค่า 17,699.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ในเดือนก่อนหน้า และแม้ในเดือนนี้มีผลของการส่งออกทองคำซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 216 แต่ถึงแม้ไม่รวมทองคำ การส่งออกก็ยังเติบโตได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ สำหรับในด้านการนำเข้ามีมูลค่า 17,292 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวเร่งสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 35.3 จากร้อยละ 13.5 ในเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงมาที่ 408 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลในระดับ 2,322 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

โดยภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 29.2 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 39.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11,875 ล้านดอลลาร์ฯ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 26-28 ขณะที่กำหนดเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกในปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 10

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยมีสัญญาณดีขึ้นกว่าการประเมินในครั้งก่อนหน้า ดังที่เห็นได้จากตัวเลขส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ดีเกินความคาดหมายของหลายฝ่าย แม้ต้องเผชิญปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวฝ่าวิกฤตมาได้ดีกว่าที่คาด และหากกระบวนการปรับตัวนี้ดำเนินไปในลักษณะของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับศักยภาพการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่แข็งแรงขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งนอกจากเป็นสัญญาณดีต่อแนวโน้มตลาดส่งออกหลักของไทยแล้ว ทิศทางดังกล่าวยังช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ฯ ไม่ให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าในทิศทางขาเดียว ซึ่งช่วยบรรเทาภาระด้านอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยนั้น ยังมีการเติบโตในระดับสูง ซึ่งหากไม่เกิดภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนทางการจีนต้องใช้มาตรการแรงในการคุมเข้มทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะคาดหวังได้ว่าจีนจะยังคงเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป

แต่ถึงกระนั้น จากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 6.0-10.0 ชะลอลงจากประมาณร้อยละ 27.0 ในปี 2553 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การชะลอตัวของการส่งออกในปีหน้านั้น เป็นการปรับตัวจากฐานที่สูง แต่มูลค่าการส่งออกน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ได้เป็นครั้งแรก ขณะที่แนวโน้มการส่งออกน่าจะกลับมามีทิศทางเติบโตดีขึ้นในปีถัดไป (ปี 2555) ตามการลงทุนขยายกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมหลัก โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ดีกว่าเฉลี่ยในปี 2554 (ขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 10) ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ โครงสร้างการส่งออกของไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการหันเหน้ำหนักจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่การพึ่งพากลุ่มยานยนต์มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงข้างหน้า ทั้งต่อแนวโน้มทิศทางการลงทุน การแข่งขัน การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนาคน รวมไปถึงระบบและเครื่องมือในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า