Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มกราคม 2554

การค้า

คาดส่งออกปี 54 เติบโต 8-12% ในรูป USD ... ในรูปบาทมีโอกาสเติบโตเป็นบวกได้ หากเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีไม่แข็งค่ารุนแรง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3026)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2553 ยังคงเติบโตได้ดีเกินความคาดหมาย โดยมีมูลค่า 17,372 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แม้ชะลอลงจากร้อยละ 28.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่ดีกว่าค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ส่วนการนำเข้าในเดือนธันวาคมมีมูลค่า 16,078 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 11.5 ชะลอจากที่เร่งตัวในอัตราร้อยละ 35.3 ในเดือนก่อน โดยการส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคมเกินดุลสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,295 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 408 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน

สำหรับภาพรวมในปี 2553 การส่งออกมีมูลค่าประมาณ 195,312 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 182,407 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 36.5 ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 12,905 ล้านดอลลาร์ฯ

จากตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2553 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยยังคงขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน (Month-on-Month) สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจในต่างประเทศที่บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบต่างๆ ไม่ได้ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยกังวลกัน รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาเสถียรภาพการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนขึ้น ทิศทางดังกล่าวนี้นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2554 ซึ่งแม้ว่าการชะลอตัวคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็มีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของารส่งออกขึ้นเป็นร้อยละ 8.0-12.0 (จากเดิมที่ร้อยละ 6.0-10.0) รวมทั้งปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการนำเข้าเป็นร้อยละ 12.0-16.0 (จากเดิมที่ร้อยละ 9.0-12.0) ทั้งนี้ จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าการส่งออกทำให้คาดว่า ดุลการค้าในปี 2554 น่าจะเกินดุลลดลงมาที่ 7.0-9.7 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 12.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 (ตามฐานศุลกากร) ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลลดลงมาที่ 8.0-11.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากระดับสูงกว่า 14 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553

สำหรับผลของทิศทางค่าเงินบาทต่อรายได้ของผู้ส่งออกไทยนั้น จากสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับการปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงเกินไปการส่งออกในรูปเงินบาทน่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตในแดนบวกได้ โดยกรณีถ้าค่าเงินบาททั้งปี 2554 มีค่าเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบัน (เฉลี่ยประมาณ 30.4 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนมกราคม 2554) มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-7.5 แต่หากค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีแข็งค่าขึ้นไปอีก 1 บาทต่อดอลลาร์ฯ อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเพียงร้อยละ 0-4.0 แต่ก็ดีกว่าคาดการณ์เดิมที่เคยกังวลว่าอาจถึงขั้นติดลบ

ปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางการส่งออกในปี 2554 นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยูโรโซนและญี่ปุ่นที่อาจยังคงมีความไม่แน่นอน และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังต้องจับตาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น การต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีจีเอสพีของสหรัฐฯ การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในยุโรป และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ นอกจากนี้ ทิศทางการส่งออกอาจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายกำลังการผลิตใหม่ในประเทศที่จะทยอยแล้วเสร็จ (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี) ขณะเดียวกัน การรุกขยายช่องทางเปิดตลาดส่งออกของผู้ประกอบการไทยไปยังประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะอาเซียน จีน และอินเดีย จะเป็นโอกาสให้ในการเข้าถึงตลาดการค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการเติบโตของกำลังซื้อในระดับสูง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า