Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2554

การค้า

สินค้าประเภทอาหารอินทรีย์ในตลาดไต้หวัน: โอกาสการส่งออกของไทยในอนาคต (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3029)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดอาหารอินทรีย์ (Organic food) ในไต้หวันนับว่ามีความน่าสนใจและเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย เนื่องจากการบริโภคอาหารอินทรีย์มีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปีระหว่างปี 2548 – 2552 อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไต้หวัน ทำให้ผู้บริโภคไต้หวันที่มีกำลังซื้อสูงหันมาสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และตระหนักในประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับค่านิยมการบริโภคอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ และพื้นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 58 ของ GDP ทำให้สินค้าประเภทอาหารอินทรีย์มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในตลาดไต้หวัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไทยมีโอกาสเจาะตลาดอาหารอินทรีย์ในไต้หวัน เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติและพืชพรรณที่หลากหลาย ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยหลายชนิดได้รับการยอมรับในตลาดยุโรปซึ่งขึ้นชื่อในด้านความเข้มงวด โดยสินค้าที่น่าสนใจผลักดันเข้าสู่ไต้หวัน ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ และหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่นๆ ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อการผลักดันเป็นสินค้าอินทรีย์ส่งออกไปยังไต้หวัน ได้แก่ ผักอินทรีย์อื่นๆ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหวาน (Cos lettuce) และผักกาดแก้ว กลุ่มซอส น้ำสลัด และเครื่องปรุงอินทรีย์ รวมไปถึง ผักและผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้ ที่ผลิตจากผัก/ผลไม้อินทรีย์ โดยคู่แข่งที่สำคัญสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ในไต้หวันในปัจจุบันคือ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ส่วนคู่แข่งที่น่าจับตามองในอนาคตคือ จีน เนื่องจากมีกำลังการผลิตมหาศาล อีกทั้งยังมีความได้เปรียบด้านการขนส่ง และอาจพัฒนาคุณภาพขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับในไต้หวันได้ในอนาคต ส่วนอุปสรรคที่สำคัญของไทยในขณะนี้ คือ กำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการส่งออก ทำให้จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต อีกทั้งยังต้องอาศัยการกระตุ้นจากภาครัฐทั้งในด้านการขยายพื้นที่เพาะปลูกและด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสในการนำรายได้เข้าประเทศและการขยายตลาดอย่างยั่งยืนในอนาคต สำหรับช่องทางในการขยายโอกาสส่งออกสินค้าอาหารอินทรีย์ของไทย ผู้ประกอบการไทยอาจผลักดันการส่งออกผ่านเครือข่ายผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายของไต้หวัน ซึ่งบางรายทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนเข้ามารับซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตในไทยไปจนถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาด ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่สะดวกกว่าวิธีอื่น ประเด็นปัญหาสำคัญในการเจาะตลาดไต้หวันคือการที่ไต้หวันยังไม่รับรองตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ทำให้ต้องส่งสินค้าเข้าไปในนามของสินค้าเกษตรอนามัย ก็นับเป็นอุปสรรคที่ควรเร่งแก้ไขโดยภาครัฐควรผลักดันให้มีการยื่นขอรับการรับรองเพิ่มมิให้ไทยเสียโอกาสในตลาดสินค้าอินทรีย์ที่กำลังขยายตัว นอกจากนั้นความสับสนของผู้ผลิตไทยเอง ระหว่างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์และเกษตรอนามัย ก็อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของอาหารอินทรีย์ไทย และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไปยังไต้หวันได้เช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า