ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ1 (Bioplastics) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัจจัยหนุนสำคัญคือ กระแสความสนใจในการแก้ไขปัญหาในเรื่องภาวะโลกร้อน โดยหันมาเน้นเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดขยะและมลพิษ เน้นการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกไม่ว่าจะเป็นการติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label) หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ซึ่งประเทศที่นำเข้าสินค้าเริ่มหันมาใช้มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ส่วนผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มหันมาพิจารณาซื้อสินค้าโดยการพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
จากบทบาทที่เพิ่มความสำคัญมากขึ้นของพลาสติกชีวภาพ ทำให้ไทยในฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของโลกต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมีการขยายตัวต่อไปในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคต อาทิเช่น ตลาดของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจที่ต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตลาดเฉพาะเจาะจง (Niche Market) ในสินค้าบรรจุภัณฑ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Packaging Design) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หรือพัฒนาด้านการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์และโดดเด่นจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงทางด้านวัตถุดิบที่จะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและขยายฐานการส่งออกได้นั้น ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆที่มีความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์พลาสติกได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
ทั้งนี้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นหัวใจสำคัญยิ่งที่จะให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีขั้นสูงและเงินลงทุนที่สูงก็ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญและข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพ จำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ หากก้าวผ่านอุปสรรคข้อนี้ไปได้ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่เข้มแข็งคงไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินไปที่ไทยจะสามารถทำได้ในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น