Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กุมภาพันธ์ 2554

การค้า

ส่งออกไตรมาสแรกยังสดใส … แนวโน้มจับตาต้นทุน และมาตรการคุมเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3047)

คะแนนเฉลี่ย

ในเดือนมกราคม 2554 การส่งออกของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 16,747 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งสูงขึ้นจากร้อยละ 18.8 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,604 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 33.3 เร่งตัวจากร้อยละ 11.5 ในเดือนก่อน การนำเข้าที่พุ่งทะยานสูงขึ้นทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคมขาดดุล 856.8 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นการกลับมาขาดดุลครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทระยะนี้ น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 1/2554 ขยายตัวค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของการส่งออกรายเดือนอาจแกว่งตัวสูง โดยมีบางเดือนที่การส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ อาจขยับลงมาเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว ขณะที่การส่งออกในรูปบาทอาจเป็นตัวเลขติดลบ แต่ภาพรวมทั้งปีน่าจะยังคงขยายตัวเป็นบวก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2554 ไว้เช่นเดิมที่ร้อยละ 8.0-12.0 แต่ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของการนำเข้าเป็นร้อยละ 12.0-17.0 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตร อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี สำหรับดุลการค้า แม้ขาดดุลในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่คาดว่าทั้งปีจะยังคงเกินดุล แต่เป็นระดับที่ลดลงมาอยู่ที่ 4,700-8,200 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 12,905 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีก่อน (ตามฐานศุลกากร)

ปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูง ซึ่งราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะความกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งล่าสุดได้ส่งผลให้การผลิตน้ำมันในลิเบีย ได้รับผลกระทบ ซึ่งลิเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของทวีปแอฟริกาเหนือ และอันดับ 9 ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ซึ่งสถานการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายดังกล่าว เมื่อประกอบกับการปรับขึ้นค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ล้วนแต่มีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออก ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองปรับราคาได้ค่อนข้างจำกัด ทำให้อัตรากำไร หรือมาร์จินอาจลดลง

ขณะเดียวกัน ในด้านอุปสงค์ต้องจับตาสถานการณ์เงินเฟ้อและมาตรการคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางชาติต่างๆ โดยหากเงินเฟ้อพุ่งแรงเกินไป ไม่เพียงจะกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยังจะมีผลต่อทิศทางนโยบายการเงิน ทำให้วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภูมิภาคเอเชียอาจมีขนาดและระยะเวลาที่ยืดออกไป รวมทั้งจะทำให้การเริ่มต้นของวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยูโรโซนและสหรัฐฯ เกิดเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะมีผลต่อความสามารถในการกู้ของภาคครัวเรือน และมีผลไปถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ชะลอตัว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในท้ายที่สุดได้




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า