Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มีนาคม 2554

การค้า

การส่งออกเดือนมี.ค.-เม.ย. อาจชะลอ จากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3065)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราร้อยละ 31.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18,868 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่แม้ไม่รวมทองคำที่มีการส่งออกปริมาณมากในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกก็ยังขยายตัวสูงร้อยละ 24.2 สะท้อนถึงความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ต่อเนื่องของวิบัติภัยในประเทศญี่ปุ่น ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิขนาดรุนแรง ตามมาด้วยวิกฤตนิวเคลียร์ที่ยังไม่อาจก้าวพ้นขีดอันตรายนั้น ผลที่ตามมาอาจกระทบทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนเป็นอย่างน้อย

สำหรับผลกระทบที่มีต่อการส่งออกของไทย ในระยะแรก การขนส่งสินค้าจากไทยไปญี่ปุ่นอาจล่าช้า ขณะที่แนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของไทยอาจชะลอลงอย่างมากในปีนี้ตามความเชื่อมั่นที่ลดลง นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในญี่ปุ่นยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ในระยะ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อาจส่งผลกระทบให้สายการผลิตในไทยต้องชะลอการผลิตเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คาดว่าจะมีสินค้าบางกลุ่มได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่น่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นทันที ขณะที่ในระยะข้างหน้า การบูรณะฟื้นฟูประเทศจะทำให้ญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าเช่นวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งอาคารเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจมีความต้องการซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์เพื่อทดแทนของที่เสียหายไป ทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังจึงน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น และการส่งออกไปยังญี่ปุ่นทั้งปีน่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้

ในระยะสั้น การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2554 คงจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน แต่ภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2554 น่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 20 จากการเติบโตสูงในช่วง 2 เดือนแรก (ร้อยละ 26.7) สำหรับการเติบโตในไตรมาสที่ 2/2554 คงชะลอลงมาอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2554 ไว้ที่ร้อยละ 8-12 เช่นเดิม โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า