Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 เมษายน 2554

อุตสาหกรรม

ปัญหาชิ้นส่วนตึงตัว…ตัวแปรสำคัญต่อทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3090)

คะแนนเฉลี่ย

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ตลาดรถยนต์ในประเทศ ยังคงมีทิศทางที่ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากฐานที่สูงขึ้นในปี 2553 และจากตัวเลขล่าสุด ตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 มีการเติบโตในระดับสูงถึงร้อยละ 43.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตามแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงด้านอุปสงค์ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาแล้ว ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของตลาดรถยนต์ในปีนี้ คือ ปัจจัยเสี่ยงจากทางด้านอุปทาน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่วิตกกันมากถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการประกอบรถยนต์ สืบเนื่องมาจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น และปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้อาจจะทำให้สภาพตลาดรถยนต์ในช่วงต่อจากนี้ไปต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น และมีโอกาสขยายตัวลดลงหรือถึงขั้นหดตัว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสามารถคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ผู้ผลิตรถยนต์น่าจะสามารถเร่งกำลังการผลิตขึ้นมา เพื่อเร่งการส่งมอบรถยนต์ ทำให้ผลกระทบต่อยอดขายทั้งปีอยู่ในขอบเขตจำกัด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2554 น่าจะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6 ถึง 12 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 45.8 ในปี 2553 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ประมาณ 850,000 ถึง 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากยอดขายรถยนต์รวม 800,357 คัน ในปี 2553 แต่ในกรณีเลวร้าย ที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนดำเนินยืดเยื้อไปถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ตามสภาวะการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ปัญหาเรื่องการผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อรุนแรงกว่าที่คาดไว้ในกรณีแรก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีเลวร้ายนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2554 อาจจะเหลือขยายตัวเพียงร้อยละ 4 ถึง 6 หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์เพียงประมาณ 830,000 ถึง 850,000 คัน

และจากปริมาณคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าว ถ้าเป็นในกรณีแรกที่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับประกอบรถยนต์ไม่ยืดเยื้อมาก และสามารถกลับมาเร่งผลิตชดเชยกำลังการผลิตที่อาจจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 2 อันเนื่องมาจากการปรับแผนของโรงงานให้สอดคล้องกับปริมาณชิ้นส่วนที่มีอยู่ ก็คาดว่าน่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการผลิตเดิมของรถยนต์ในปีนี้ที่จำนวน 1.8 ล้านคัน แต่ถ้าหากเป็นไปตามกรณีเลวร้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง และทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ปี 2554 ทั้งปี ลดต่ำลงกว่าจำนวน 1.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ แต่จะลดต่ำลงไปแค่ไหนนั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนนั้นยังไม่ชัดเจน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันก็ยังเกิดปัญหาแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะเข้ามาเยือน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม