ภาวะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางดีขึ้น ทำให้ความนิยมสินค้าแฟชั่น ได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยหนึ่งในสินค้าแฟชั่นที่คาดว่าจะกลับมาได้รับความนิยม ได้แก่ ;รองเท้าหนัง” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกรองเท้าหนัง1 ในปี 2554 จะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยมูลค่าการส่งออกน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 560-570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 (YOY)
ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมรองเท้าหนังไทยจะยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดี เนื่องจากมีจุดเด่นที่น่าสนใจ ในการดึงดูดความสนใจผู้ประกอบการข้ามชาติ ให้เข้ามาลงทุนหรือว่าจ้างผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รองเท้าหนังระดับกลางถึงบน เนื่องจากการตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค การมีอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก ประการสำคัญก็คือ การมีแรงงานฝีมือมีความประณีตในการตัดเย็บและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่เริ่มลดลงและถูกเบียดแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากประเทศคู่แข่ง ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและแรงงานฝีมือในภาคการผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อโอกาสของไทย ในการดึงดูดนักลงทุนที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยและผู้ประกอบการต่างชาติในกลุ่มที่จะเข้ามาว่าจ้างไทยเป็นผู้ผลิตสินค้านั้นลดลง
ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถคงสถานะประเทศผู้ส่งออกรองเท้าหนังที่สำคัญของโลกได้อย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งสร้างศักยภาพการเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างจุดแข็งของไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ และแนวทางการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการในลดต้นทุนในการผลิต ตลอดจนการนำเสนอสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเสรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ในส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ควรมีการวางแผนปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งเน้นในเรื่องของการทำการตลาดเชิงรุก และการลดต้นทุนการผลิตด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจไทยและต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมทุนในการผลิตและการส่งออก ประการสำคัญ ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยังเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น และพร้อมรับมือกับการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นต่อไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น