จากสภาวการณ์ที่ราคาพลังงานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน และอาจยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้านั้น ทำให้ภาครัฐต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนโยบายที่เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งนโยบายนี้แบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ อันได้แก่ 1) การปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยจะมีการปรับแก้วิธีการคิดค่าไฟฟ้าฐานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นและโยกย้ายต้นทุนบางส่วนจากค่า Ft เข้าสู่ค่าไฟฟ้าฐาน เพื่อให้ค่า Ft สะท้อนเฉพาะค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า และ 2) การกำหนดนโยบายให้ประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนและขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์ได้ใช้ไฟฟ้าฟรีตามนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล ซึ่งการปรับปรุงนโยบายทั้งสองนี้น่าที่จะถูกพิจารณาเพื่อนำไปบังคับใช้เร็วๆนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น พบว่า แม้การปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ไม่น่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม นโยบายค่าไฟฟ้าฟรีถาวรสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าน้อย อาจส่งผลให้ภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในบางอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซีเมนต์ แก้วและอโลหะ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต้นทุนจากค่าไฟฟ้าในระดับที่สูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตน้ำแข็ง การประปา โกดังเก็บสินค้า อุตสาหกรรมการโรงแรม อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้นทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงสถานการณ์พลังงานที่เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัวมากขึ้นตามแนวโน้มที่สูงขึ้นของระดับราคาเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเตาหรือราคาก๊าซธรรมชาติ และถึงแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐได้ตั้งสำรองปริมาณไฟฟ้าไว้กว่าร้อยละ 20 ของความต้องการไฟฟ้าไว้แล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคตหากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP 2010 มีความล่าช้าออกไป ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในเวลานี้ ก็คงจะเป็นการประหยัดการใช้ไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกช่วงเวลาในการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงค่าไฟฟ้าแพงในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าในหน่วยงานเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแล้ว แต่จะยังสามารถช่วยลดภาระของประเทศในการที่จะต้องจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น