Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2554

การค้า

แนวโน้มการค้าไทยไตรมาส 2 … ส่งออกชะลอ แต่นำเข้ายังสูง กดดันดุลการค้าอาจขาดดุลรายไตรมาสครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3109)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2554 ขยายตัวชะลอตัวลงมาที่ร้อยละ 24.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 30.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประสบปัญหา และมีผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมในไทยที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนหลักที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มูลค่าการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 13 (YoY) ซึ่งเป็นการติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน สำหรับในด้านการนำเข้านั้น ขยายตัวชะลอลงเพียงเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 27.9 (YoY) ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวมากกว่าการนำเข้าดังกล่าว ทำให้ดุลการค้าในเดือนเมษายนพลิกกลับมาขาดดุล 797 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลสูงกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นต่อการส่งออกบางอุตสาหกรรมของไทย น่าจะยังคงมีต่อเนื่องและอาจรุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคมก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นในเดือนมิถุนายน และเริ่มกลับมาผลิตได้เป็นปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งจากผลกระทบดังกล่าวนี้ ทำให้คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อาจชะลอตัวลงมามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10-15 (YoY) จากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 28.3 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี การนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 2 อาจยังคงขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 20-25 ใกล้เคียงกับร้อยละ 25.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ พลังงาน และสินค้าทุน ซึ่งจะทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 2/2554 มีโอกาสขาดดุลกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลสูง 2,697 ล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสแรก

สำหรับแนวโน้มในปี 2554 ทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 11.0-17.0 น้อยกว่าการนำเข้าที่คาดว่าอาจขยายตัวสูงร้อยละ 17.0-21.0 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าทั้งปีน่าจะยังเกินดุลประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางการส่งออกของไทยในระยะต่อไปนั้น นอกจากการคลี่คลายปัญหาในภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ และการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า