Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤษภาคม 2554

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือน เม.ย.54 : ชะลอความร้อนแรงลง…ตามเศรษฐกิจจีนที่เริ่มอ่อนแรง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3116)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกและนำเข้าของไทยไปจีนในเดือน เม.ย. 54 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 21.0(YoY) และร้อยละ 23.2 (YoY) จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมไปถึงการชะลอตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ผู้นำเข้าของจีนชะลอการสต๊อกสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากที่ได้เพิ่มสต๊อกอย่างมากในช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มอ่อนแรงด้วยการเติบโตที่ช้าลงตามเจตนารมณ์ของทางการจีน ผ่านนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด มาตรการคุมเข้มการลงทุน รวมไปจนถึงเหตุที่ต้องดำเนินมาตรการตัดไฟในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากน้ำในแม่น้ำแห้งขอด ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลง ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเดินเครื่องได้ไม่เต็มที่ และเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2554 ศูนย์ วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า การส่งออกไทยไปจีนในไตรมาส 2/2554 อาจขยายตัวไม่เกินร้อยละ 20 (YoY)ากที่เติบโตร้อยละ 24.9(YoY) ในไตรมาส1/2554

ขณะที่ความอ่อนแรงของภาคการนำเข้าในเดือน เม.ย.2554 เป็นผลจากการชะลอตัวของกลุ่มสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 76.4 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมในเดือนนี้เป็นสำคัญ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการนำเข้ารายเดือนสูงกว่าการส่งออกในเดือนเม.ย.2554 ทำให้ไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีนในเดือนดังกล่าว และนับเป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยในระดับ 528.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหนือมูลค่าขาดดุลในเดือนก.พ.2554 ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติสูงสุดที่ระดับ 521.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคจีนสมัยใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้ามากขึ้น ดังนั้น การแข่งขันด้านรูปลักษณ์ คุณภาพของสินค้าในตลาดจีนจึงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจำเป็นต้องตื่นตัว ต้องทำการวิจัยตลาด และพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาและสร้างโอกาสทางการแข่งขันในตลาดจีนที่นับวันจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นต่อไทยและมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า