Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มิถุนายน 2554

การค้า

ตลาดผลไม้ในจีนส่อแววแข่งขันเข้มข้น...ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดจีน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3125)

คะแนนเฉลี่ย

ผลไม้ไทยครองตลาดในจีนด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 23.2 ของการนำเข้าผลไม้ของจีน ซึ่งผลไม้เมืองร้อนของไทยหลายรายการ อาทิ ลำไย ทุเรียน มังคุด คงความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งด้วยส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน อันได้แก่ พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(ปี 2549-2553) อัตราการนำเข้าผลไม้ของจีนจากตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 27 ต่อปี ความต้องการดังกล่าวจึงน่าจะสนับสนุนให้ผลไม้ไทยมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีที่จีนอนุมัติให้นำเข้าทุเรียนจากมาเลเซียในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นการสะท้อนถึงการเปิดตลาดผลไม้ในจีนที่กว้างขวางขึ้น อาจทำให้ผลไม้ของไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันในจีนที่เข้มข้น โดยทุเรียนมาเลเซียมีจุดเด่นด้านรสชาติที่อร่อย มัน และหอมนวล ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการมาเลเซียสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความคงทนมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ทุเรียนมาเลเซียเป็นคู่แข่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม แม้ว่าในปัจจุบันทุเรียนไทยจะยังสามารถครองตลาดจีนได้อย่างเหนียวแน่นด้วยสัดส่วนเกือบทั้งหมดของการนำเข้าทุเรียนของจีนก็ตาม รวมไปถึงผลไม้ชนิดอืนๆด้วย เพราะหากประเทศสมาชิกในอาเซียนสามารถผลิตผลไม้ได้ตรงกับความต้องการบริโภคของจีนได้มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ส่วนแบ่งตลาดผลไม้ไทยจะถูกแย่งชิงไปได้

นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดส่งออกผลไม้อันดับ 1 ของไทย แต่ในขณะเดียวกันไทยก็นำเข้าผลไม้จากจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าผลไม้ไทยเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่นๆ โดยนับตั้งแต่เปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบอาเซียน-จีน การค้าผลไม้ของไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อจีนลดลงตามลำดับ จนกระทั่งเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนในปัจจุบัน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 ผลไม้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเป็นมูลค่า 7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้น ผู้ผลิตไทยจึงต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสในการรุกตลาดจีน ด้วยการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้ากับจีนให้เต็มที่มากขึ้น เพื่อบรรเทาภาวะการขาดดุลการค้าผลไม้ของไทยกับจีน ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาปรับปรุงทั้งในส่วนของการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า การขยายช่องทางการจำหน่าย และการแสวงหาพันธมิตรในจีน เป็นต้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ให้ได้มากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่คาดว่าจะเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากจีนเองก็พยายามแสวงหาแหล่งนำเข้าใหม่ๆเพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า