Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มิถุนายน 2554

การค้า

ส่งออกปี 54 ยังแข็งแกร่งแม้ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า … คาดขยายตัว 15.5-20% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3129)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยชะลอตัวลงจากปัญหาในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตของประเทศญี่ปุ่น แต่ยังคงรักษาทิศทางการเติบโตที่สูงเหนือความคาดหมายของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2554 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) จากที่ขยายตัวร้อยละ 24.6 ในเดือนก่อน และร้อยละ 28.3 ในไตรมาสแรก สำหรับมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 19,465 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 17,564 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางฤดูกาล (เดือนเมษายนมีช่วงเทศกาลวันหยุดยาว) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำแนกรายสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61.1 (จากร้อยละ 43.2 ในเดือนก่อน) ตามการเติบโตของสินค้าอาหาร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวถึงร้อยละ 34.9 (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 13 ในเดือนก่อน)

เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ของไทย แต่ในภาพรวมแล้ว การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ยังคงขยายตัวได้ดี กลับยังเติบโตได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยขยายตัวสูงร้อยละ 30.4 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนได้ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติของญี่ปุ่นมีผลต่อการส่งออกของไทยในขอบเขตที่จำกัด และญี่ปุ่นยังมีความต้องการสินค้าจากไทยอยู่มาก

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2554 คาดว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศน่าจะเริ่มกลับมาผลิตและส่งออกเป็นปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายในญี่ปุ่นอาจเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กระนั้น ด้วยตัวเลขส่งออกที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดในช่วงเดือนที่ผ่านๆ มา ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2554 ขึ้นเป็นร้อยละ 15.5-20.0 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 11.0-17.0 ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการนำเข้าเป็นร้อยละ 22.5-26.5 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 17.0-24.0 ส่งผลให้ดุลการค้าอาจเกินดุลประมาณ 1,800-3,800 ล้านดอลลาร์ฯ (ตามฐานศุลกากร ส่วนดุลการค้าตามฐานดุลการชำระเงินคาดว่าจะเกินดุล 3,000-5,100 ล้านดอลลาร์ฯ)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า