Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2554

การค้า

แนวโน้มการส่งออกปี 2554 ... ฝ่าปัจจัยลบ คาดเติบโตพุ่งถึง 20% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3141)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยยังคงสะท้อนภาพที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2554 ยังคงเติบโตสูงเหนือความคาดหมายของตลาด มีมูลค่าแตะระดับ 21,074 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งใกล้เคียงสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้ที่ระดับ 21,259 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น สำหรับอัตราการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 17.6 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นไม่รุนแรงอย่างที่กังวล โดยแม้มีผลกระทบทำให้การส่งออกสินค้าบางกลุ่ม เช่นยานยนต์ หดตัวลง แต่ความต้องการของตลาดญี่ปุ่นต่อสินค้าหลายประเภทจากไทยที่เพิ่มขึ้นได้ทำให้การส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นกลับขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังสูงกว่าตลาดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ซึ่งนับเป็นแรงหนุนสำคัญประการหนึ่งต่อการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 11-21 จากร้อยละ 23.6 ในครึ่งปีแรก (มีมูลค่า 114,978 ล้านดอลลาร์ฯ) แต่ยังเป็นทิศทางที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดของอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นอาจมีแรงหนุนจากความต้องการสินค้าไทยเนื่องจากภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงเผชิญปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ รวมทั้งอานิสงส์จากการบูรณะฟื้นฟูประเทศ ทั้งนี้ จากความแข็งแกร่งของตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 17.0-22.0 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 226,000 ถึง 236,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดคือสถานะหนี้ของสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ของการถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงปัญหาวิกฤติหนี้ของประเทศกลุ่ม PIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ที่ยังไม่มีข้อยุติและอาจมีผลลุกลามกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน อันจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อการรักษาสถานะการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า