Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กรกฎาคม 2554

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมครึ่งหลังฟื้น แต่ทั้งปีอาจขยายตัวเพียง 3.0-4.5% ... ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับปัจจัยท้าทายในปีหน้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3144)

คะแนนเฉลี่ย

ภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีแรกประสบภาวะชะลอตัว โดยในไตรมาสแรกมีการชะลอการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญซึ่งมีสต็อกสินค้าอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ได้ทำให้ให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต้องปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาสที่ 2/2554

แต่หลังจากปัญหาในภาคการผลิตของญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลาย และอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2554 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งหลังของปี 2554 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0-9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดี จากปัญหาที่ค่อนข้างหนักหน่วงในครึ่งปีแรก ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2554 ทั้งปีอาจอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.5 ชะลอลงจากที่เติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 13.9 ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0-10.5 ในปี 2555 โดยเป็นผลมาจากเริ่มต้นเดินเครื่องผลิตของโครงการที่ได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา (เช่น โครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์) และแรงกระตุ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวรับมือโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือประเด็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและฐานเงินเดือนพนักงานระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่อาจมีความสามารถน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจเป็นประโยชน์กับธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มากนัก ขณะที่การตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเหลือผลกระทบระยะสั้นอาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาอย่างถาวร มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับเอสเอ็มอีควรเพิ่มแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง โดยอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเอสเอ็มอีที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพ อาทิ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านอุปกรณ์เครื่องจักร และการพัฒนาคุณภาพแรงงาน มาหักลดหย่อนภาษีหรือหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจเข้ามาดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่ามาตรการดังกล่าวบางส่วนอาจเป็นภาระด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีการวางกรอบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขอย่างเหมาะสม ก็น่าจะถือว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม