Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 สิงหาคม 2554

อุตสาหกรรม

การส่งออกเคหะสิ่งทอของไทย ... แนวโน้มสดใสในอาเซียน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3163)

คะแนนเฉลี่ย

อาเซียน เริ่มมีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดส่งออกเคหะสิ่งทอของไทย ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 2 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.4 (YOY) สูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 การส่งออกเคหะสิ่งทอของไทยไปอาเซียน น่าจะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 (YoY) โดยได้รับอานิสงส์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) การขยายตัวของการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง ที่จะมารองรับสินค้าในกลุ่มเคหะสิ่งทอในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมการตกแต่งบ้านที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการกีดกันทางการค้ายังไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ ยังทำให้คาดว่า อาเซียนจะเป็นแหล่งดึงดูดด้านการลงทุนที่สำคัญ อันส่งผลทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกเคหะสิ่งทอของไทยไปตลาดโลก คาดว่า จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.2 (YoY) เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกเคหะสิ่งทอหลักอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น และการแข่งขันในตลาดส่งออกที่ค่อนข้างรุนแรง อาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มเคหะสิ่งทอมีแนวโน้มปรับลดลง ส่งผลทำให้การส่งออกเคหะสิ่งทอของไทยไปยังอาเซียนทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในการค้าเคหะสิ่งทอในตลาดอาเซียน เนื่องจากฐานการผลิตในไทยยังได้รับความไว้วางใจจากต่างชาติ ในเรื่องของมาตรฐานการผลิตและการออกแบบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อได้เปรียบจากการตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้มีโอกาสสูงในการจะขยายตลาดในอาเซียนได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในแถบอาเซียน ที่เริ่มให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาด้านคุณภาพและลักษณะการใช้งานควบคู่กับปัจจัยทางด้านราคา อันเนื่องมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาเน้นการพัฒนาสินค้าเคหะสิ่งทอในเชิงคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับประเทศคู่แข่ง โดยอาศัยจุดเด่นของเคหะสิ่งทอไทยด้านการออกแบบและมาตรฐานคุณภาพสินค้า ในการตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน การประสานความร่วมมือทางด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในกลุ่มผู้ประกอบการเคหะสิ่งทอ โดยเฉพาะธุรกิจต่อเนื่อง ที่จะมารองรับสินค้าในกลุ่มเคหะสิ่งทอ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจภาคบริการ โรงแรม สปา ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ยังเป็นการสร้างโอกาสขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม