Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กันยายน 2554

การค้า

ส่งออกยุโรป 8 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 22.4 (YoY)...แต่ช่วงที่เหลือของปี’54 อ่อนแรงลง คาดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 16-20 (YoY) (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2264)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 เติบโตได้ดีเกินคาดในอัตราร้อยละ 22.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจหลักยุโรปที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2554 ไทยอาจเผชิญแรงกดดันด้านการส่งออกมากขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่ยังอ่อนแอ ทั้งยังมีปัจจัยฉุดรั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ ที่ยังคงเป็นประเด็นและมีความไม่แน่นอนว่าจะยุติในรูปแบบใด ซึ่งได้สร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจยุโรปและตลาดโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้พิจารณาแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2554 ใน 2 กรณี คือ

-กรณีที่ 1 เศรษฐกิจยุโรป (EU27) ยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.6-1.7 และปัญหาวิกฤติหนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่แผ่ขยายไปในวงกว้างออกไปจากปัจจุบันที่มีประเทศที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่ม PIIGS คาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปยุโรปในปี 2554 น่าจะขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 16-20 แต่การขยายตัวอาจชะลอลงเป็นเพียงตัวเลขหลักเดียวในปี 2555

- กรณีที่ 2 เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวอย่างรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย และปัญหาวิกฤติหนี้ได้แผ่ขยายไปในวงกว้าง ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยุโรปในปี 2554 น่าจะขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 13-18 และอาจเห็นการเติบโตที่ติดลบในปี 2555

ทั้งนี้ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีทิศทางขาลงและยืดเยื้อในระยะยาว อาจครอบคลุมสินค้าหลายรายการที่ไทยพึ่งพาตลาดยุโรปเป็นหลัก อาทิ สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น ไก่แปรรูป ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ รถจักรยานและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจครอบคลุมถึงสินค้าที่เคยพึ่งพากำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดยุโรป อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ และยังอาจกระทบถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มข้นมากขึ้นและตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้น ซึ่งยิ่งบีบคั้นอำนาจใช้จ่ายของชาวยุโรปลงไปอีก ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปรอบใหม่นี้ อาจส่งผลในหลายภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้น และผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ทำให้อาจเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการจับกลุ่มลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่ โดยควรเน้นในการบริหารต้นทุนการจัดการและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ศึกษาตลาดและฐานะสภาพคล่องของลูกค้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนปรับกลยุทธ์การส่งออกและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับลักษณะความต้องการผู้บริโภคที่มีความมัธยัสถ์มากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า