วิกฤติน้ำท่วมที่ได้ลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้างเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม 5 แห่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีก 2 แห่งที่จังหวัดปทุมธานี) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของไทย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี และบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น มีสัดส่วนรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 44.5 ของจำนวนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติเจ้าของแบรนด์สินค้าชื่อดังของโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งมีการขยายฐานการผลิตกว้างขวาง รวมตัวกันในลักษณะ Cluster คือ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบในขั้นตอนต่างๆ ผลิตเพื่อป้อนให้แก่โรงงานแม่ที่ประกอบสินค้าขั้นสุดท้าย และพื้นที่แถบนี้ยังนับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก ที่ไทยครองสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูงในตลาดโลกด้วย เช่น HDD ตลับลูกปืน และแผงวงจรประเภทต่างๆ เป็นต้น วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ คงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า จากการที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ ทำให้การส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2554 คงจะหดตัวค่อนข้างแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เช่น HDD ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องพริ้นเตอร์ ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.0 ของการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ แผงวงจรรวม แผงวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์โทรศัพท์ เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดการเติบโตการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2554 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 6.0-8.5 หรือมีมูลค่าประมาณ 30,150 - 31,005 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับที่เติบโตร้อยละ 21.9 ในปี 2553
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดการเติบโตการส่งออกกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบในปี 2554 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาจเติบโตเพียงร้อยละ 7.0- 9.0 (มีมูลค่าส่งออกประมาณ 22,000 – 22,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งชะลอลงจากร้อยละ 32.3 ในปี 2553 โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวิดีโอทัศน์ ชิ้นส่วนโทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ดี ฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก ทำให้ผลกระทบจากน้ำท่วมจึงไม่รุนแรงเหมือนกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
จากปัญหาวิกฤติน้ำท่วม ที่ส่งผลต่อโรงงานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ในระหว่างที่โรงงานที่ประสบภัย ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหาย โดยได้มีการย้ายไปผลิตที่โรงงานแห่งอื่นในประเทศ และบางบริษัทมีการย้ายออร์เดอร์ไปผลิตในต่างประเทศเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี แม้บริษัทต่างชาติจะมีการย้ายออร์เดอร์ไปผลิตที่ประเทศอื่นๆนั้น แต่ก็เป็นการผลิตเพียงเฉพาะรุ่นเท่านั้น ทำให้ปัญหาขาดแคลนสินค้าบางประเภทยังมีสูง โดยเฉพาะสินค้าไอที เช่น HDD ที่โรงงานผลิตส่วนประกอบต่างถูกน้ำท่วม ทำให้แม้โรงงานที่ไม่ได้รับน้ำท่วม ก็ต้องหยุดการผลิตลง และต้องปรับกลยุทธ์ในการจัดหาชิ้นส่วนทดแทน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายทางธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยเท่านั้น ยังอาจมีผลต่ออุปทาน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทในตลาดโลกในระยะ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น