Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2554

การค้า

ไทยอาจสูญรายได้ส่งออก 380,000-450,000 ล้านบาทในปี 2554-55 จากอุทกภัย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3210)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2554 สะท้อนภาพชัดเจนถึงผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตของโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย เช่น ในนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรม 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีเท่านั้น แต่ยังนำมาสู่การหยุดชะงักของสายการผลิตของโรงงานในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งต้องพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากโรงงานในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม รวมทั้งโรงงานบางส่วนในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ก็มีการหยุดผลิตเพื่อเตรียมการรับสถานการณ์น้ำ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2554 มีมูลค่าลดลงมาเหลือเพียง 17,192 ล้านดอลลาร์ฯ จากระดับ 21,511 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน ขณะที่มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year)

สินค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุทกภัย ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ (หดตัวร้อยละ 22.1) รถยนต์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 17.4) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 14.5) ซึ่งสินค้าทั้ง 3 กลุ่มรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวลง ได้แก่ ข้าว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เลนซ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวเรือน เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจกดดันให้การส่งออกในปี 2554 ขยายตัวต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.5-16.7 จากที่ก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัยเคยคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนน่าจะยังคงลดลงจากเดือนก่อน มาสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 16 เดือน ที่มูลค่าประมาณ 15,000-16,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะหดตัวมากกว่าร้อยละ 10 (YoY) และน่าที่จะยังคงหดตัว (YoY) ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555 เนื่องจากแม้ขณะนี้ มีบางโรงงานที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมเสียหายโดยตรงเริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตบ้างแล้ว และน่าจะมีโรงงานที่ทยอยกลับมาผลิตได้มากขึ้นหลังจากที่กู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมได้เป็นผลสำเร็จประมาณเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงานที่เครื่องจักรจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน อาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือนกว่าที่จะสามารถฟื้นกำลังการผลิตกลับคืนสู่ระดับปกติได้ และเมื่อผนวกกับปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยืดเยื้อของวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2555 อาจขยายตัวชะลอลงเหลือเพียงร้อยละ 5 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 2-8 เท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลของอุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้อาจสร้างความสูญเสียต่อภาคการส่งออกของไทยในปี 2554-2555 คิดเป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 12,400-14,800 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 380,000-450,000 ล้านบาท อนึ่ง อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบระยะสั้นที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยต้องสะดุดลงเท่านั้น แต่อาจมีผลเชื่อมโยงไปถึงแนวโน้มการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย และอาจจะกระทบต่อศักยภาพของอุตสาหกรรมส่งออกของไทยในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำเข้าท่วมเสียหายนั้น กว่าร้อยละ 70 เป็นนักลงทุนต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ การเร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมทั้งการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัย จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วก่อนเข้าฤดูกาลน้ำหลากที่จะมาถึงในปีหน้า เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงสำหรับอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า