Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กุมภาพันธ์ 2555

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเซรามิก ปี’55: ได้รับแรงหนุนจากการซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้างหลังน้ำท่วม...แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3247)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2555 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นปีแห่งการฟื้นฟู ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี ที่ได้สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นี้ “อุตสาหกรรมเซรามิก” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากผลของอุทกภัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2555 การผลิตเซรามิกเพื่อการจำหน่ายในประเทศ จะมีมูลค่าประมาณ 26,800-27,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-7(YOY) ดีขึ้นจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 5 (YOY) โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างในต่างจังหวัด และจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดส่งออก พบว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2555 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 520-550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0-5 (YOY) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปและสหรัฐฯ ยืดเยื้อยาวนาน ขยายวงกว้างจนกลายเป็นผลกระทบลักษณะลูกโซ่ต่อการค้าและการลงทุนไปยังภูมิภาคเอเซียและจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ก็อาจส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย มีมูลค่าต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 470-490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการพึงระวังและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จากการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตและการขนส่ง รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และการออกมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มประเทศในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่อาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่เข้ามาตีตลาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาด้านคุณภาพควบคู่กับปัจจัยทางด้านราคามากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาลู่ทางในการขยายตลาด โดยเฉพาะตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก เพื่อเป็นการรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการหาพันธมิตรทางการค้าที่จะมาช่วยสนับสนุนช่องทางการทำตลาดและจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม