อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2555 นี้ คงจะต้องเผชิญปัจจัยกดดันที่หลากหลาย ทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญกับภาวะชะลอตัวอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศยุโรปยังคงมีความเปราะบางและยังไม่ได้รับการแก้ไขลุล่วง ปัญหาก็อาจขยายตัวเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและรายได้ของประชาชนในประเทศ ท้ายที่สุดจะมีผลต่อความต้องการการจับจ่ายใช้สอยและซื้อหรือเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่เช่นกัน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญในปี 2555 นี้ คือ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด และจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัดให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2554 ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำดังกล่าว คงจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศสูงขึ้น และมีผลทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย แม้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากนัก แต่ด้วยสภาพการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ตลาดมีการตัดการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก และกลายเป็นตัวแปรที่กดดันให้ผู้ผลิตต้องควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดตลาดการค้าเสรีและการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 จะทำให้นักลงทุนมีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และผลกำไรที่ดีกว่า และเมื่อไทยมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่อ่อนไหวต่อปัจจัยด้านต้นทุน อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามในเรื่องของแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในปีนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้หลายโรงงานงานอยู่ในระหว่างการเร่งฟื้นฟู เพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้เป็นปกติ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นอีกครั้งในปีนี้ อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้ในอนาคต
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ภาวะตลาดโดยรวมในฝั่งการผลิตนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 นี้ อาจยังคงหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นใช้ในครัวเรือน และเครื่องคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา ที่ได้เข้าท่วมโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์น่าจะสามารถกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จากความพยายามของผู้ประกอบการที่จะเร่งฟื้นฟูโรงงานให้สามารถกลับมาผลิตได้รวดเร็วขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2555 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 23,750 – 24,750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตร้อยละ 6.5-11.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 ในปี 2554
ขณะที่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศ ปี 2555 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 83,250 – 84,150 ล้านบาทเติบโตประมาณร้อยละ 4.5-5.5 เมื่อเทียบกับที่เติบโตประมาณร้อยละ 2.5 ในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยการเติบโตของเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 นี้ ยังคงได้รับแรงบวกจากความต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าทดแทนต่อเนื่องจากที่เสียหายอันเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในปีที่ผ่านมา
สำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า (ทั้งการส่งออกและในประเทศ) ที่น่าจะมีความคึกคักเป็นพิเศษในปี 2555 นี้ คือ กลุ่มโทรทัศน์ และระบบเครื่องเสียง เนื่องจากตลาดจะได้รับปัจจัยหนุนต่อการเติบโต จากกระแสฟุตบอลยูโร ;UEFA Euro 2012” ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่นับได้ว่าเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลกรองจากฟุตบอลโลก (จากสถิติของ UEFA พบว่า มีคนดูฟุตบอลในแต่ละนัดผ่านโทรทัศน์ในศึกฟุตบอลยูโร เมื่อปี 2008 (พ.ศ. 2551) ที่ผ่านมา ประมาณ 115 ล้านคนทั่วโลก) และจะเป็นจังหวะที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกจะออกแคมเปญการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น