ทิศทางราคาอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสองเดือนแรกของปี 2555 โดยดัชนีราคาอาหารเพิ่มขึ้นจาก 210.8 ณ เดือน ธ.ค.ปี 2554 ปรับมาอยู่ที่ 215.3 ณ เดือนก.พ.ปี 2555 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้งในทวีปอเมริกาใต้ และภัยหนาวในทวีปยุโรป ส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรสำคัญที่ออกสู่ตลาดโลก ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำตาล และพืชไร่ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปี 2555 จากเดิมที่ทางองค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ได้คาดการณ์ว่าราคาอาหารจะมีทิศทางที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2554
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาอาหารในตลาดโลกที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ด้านหนึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อเกษตรกร และผู้ส่งออกที่จะสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งปริมาณผลผลิตของไทยที่ได้ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก ในขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ธุรกิจอาหารสัตว์ ตลอดจนผู้ผลิตที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบ
สำหรับสินค้าบางรายการ เช่น น้ำมันปาล์ม หากระดับราคาสินค้าในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาต่างประเทศและในประเทศเพิ่มมากขึ้น อาจจูงใจให้ผู้ประกอบการหันไปเพิ่มการส่งออก จนอาจกระทบต่อปริมาณสต็อกสำหรับใช้บริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ปริมาณผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทางหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ และการตรวจสอบสต็อกสินค้า ตลอดจนภาครัฐควรติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยราคาที่เหมาะสม นอกจากจะเป็นระดับราคาที่สามารถสะท้อนต้นทุนการผลิตแล้ว ยังควรที่จะพิจารณาระดับราคาในตลาดต่างประเทศควบคู่ไปด้วย เพื่อลดปัญหาส่วนต่างราคาต่างประเทศที่สูงจนจูงใจให้ผู้ประกอบการขยายการส่งออกในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทางเลือกในการแก้ปัญหาหนึ่งของภาครัฐคือ การนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์จากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ในราคาที่ทางโรงกลั่นสามารถผลิตและจำหน่ายได้ภายในราคาเพดานขายปลีกที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งทางเลือกดังกล่าว ภาครัฐจะต้องรับแบกรับส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์มที่นำเข้า ทั้งนี้ ในระยะสั้น อาจส่งผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐไม่มากนัก แต่ถ้าหากราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ย่อมจะทำให้ภาระในการดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องผลผลิตพืชหลายชนิดที่มีปริมาณลดลงจากผลของภัยแล้งในทวีปอเมริกาใต้ น่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น เนื่องจาก คาดว่าในระยะเวลาช่วงครึ่งปีหลังจะมีปริมาณผลผลิตพืชออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับประเด็นที่ควรติดตามในระยะถัดไป คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งอาจจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อภาคการเกษตร รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านต้นทุนในการทำการเกษตร ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจากราคาแนวโน้มราคาน้ำมัน ต้นทุนอาหารสัตว์ และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น