Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 เมษายน 2555

การค้า

ส่งออกไทยไปจีนเดือน ก.พ.2555...เติบโตเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3269)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ได้พลิกฟื้นมาเติบโตในแดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.4(YoY) กระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับที่เคยหดตัวร้อยละ 0.4 (YoY)ในเดือนมกราคม 2555 โดยน่าจะเป็นผลของความต้องการสะสมพลังงานในภาวะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนที่ไม่นับรวมน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบแล้วกลับพบว่าได้หดตัวลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จึงสะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงต้นปี 2555 ยังคงเปราะบาง ท่ามกลางความท้าทายจากความไม่แน่นอนที่กำลังห้อมล้อมเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ดุลการค้าระหว่างไทย-จีนทั้งปี 2555 อาจจะยังคงเป็นไทยที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีน เนื่องด้วยไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนทั้งในส่วนของสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่นอกจากจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของกิจกรรมเศรษฐกิจตามปกติแล้ว ยังอาจจะเป็นไปตามกิจกรรมเสริมอันเนื่องมาจากนโยบายของทางการไทย(อาทิโครงการ One PC Tablet per One Child) ด้วย ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อาจจะไม่ร้อนแรงนักเนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจจีนในปี 2555 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามทิศทางการหดตัวของอุปสงค์ในตลาดคู่ค้าหลักของจีนอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ประกอบกับสัญญาณจากทางการจีนที่ได้มีการประกาศเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากระดับร้อยละ 8 ในปี 2554 นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเองก็อาจจะไม่ร้อนแรงมากนัก เนื่องด้วยยังคงมีโจทย์ที่ต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลหลายภาคส่วน อีกทั้งยังมีความท้าทายจากทิศทางราคาพลังงาน เช่น ไฟฟ้า และก๊าซ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยไปจีนในปีนี้น่าจะยังสามารถรักษาการเติบโตในแดนบวกได้ตามความต้องการสินค้าพลังงานจากการขยายตัวของการก่อสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นของจีนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นระหว่างประชาชนในเมืองและในชนบท ประกอบกับแนวโน้มที่ทางการจีนน่าจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมนับจากนี้ และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจีนอาจจะมีการเสริมสภาพคล่องสู่ระบบผ่านทางต่างๆ รวมถึงการขอความร่วมมือ (Guidance) กับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคการเกษตร และพื้นที่ชนบท เพื่อประคับประคองเส้นทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ให้มีความรุนแรงจนเกินไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า