Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2555

การค้า

การส่งออกอาจฟื้นตัวตามภาคอุตสาหกรรม แต่อาจมีปัจจัยฉุดจากทิศทางเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าเกษตร (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3275)

คะแนนเฉลี่ย

มูลค่าส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2555 ตอกย้ำภาพการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแม้ว่า การส่งออกจะกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 6.5 (YoY) จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน แต่มูลค่าการส่งออก ก็ยังคงเพิ่มระดับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อีกร้อยละ 4.3 (MoM) ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนมี.ค.นั้น เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 32.1 (MoM) และร้อยละ 25.6 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นำโดย การเร่งนำเข้าน้ำมันดิบ สินค้าทุน วัตถุดิบและทองคำ

ทั้งนี้ นับจากต้นปี 2555 การส่งออกของไทยเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวตามทิศทางในภาคการผลิตอุตสาหกรรม สัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนจากการพลิกกลับมาขยายตัวของการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ก็ช่วยทำให้อัตราการหดตัวของการส่งออกโดยรวมของไทยลดต่ำลง จากที่ติดลบร้อยละ 4.8 ในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 มาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3.9 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 อย่างไรก็ดี สัญญาณบวกดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก เนื่องจากการฟื้นสายการผลิตกลับสู่ภาวะปกติยังต้องใช้เวลา ขณะที่ อุปสงค์จากตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทั้งกลุ่ม G-3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน) จีน และอาเซียน ยังอยู่ในระดับอ่อนแอ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปและการทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยหลายตัว ก็ปรับตัวลงจากระดับในปีก่อนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางการฟื้นกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ทยอยกลับสู่ระดับปกติ อาจช่วยหนุนภาพรวมของการส่งออกของไทยได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งย่อมจะทำให้โอกาสของการกลับสู่เส้นทางการเติบโตอีกครั้งของภาคการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 เพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่ประกอบขึ้นจากความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความผันผวนของทิศทางราคาน้ำมันที่อาจมีผลย้อนกลับมากดดันเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาค ก็ยังน่าที่จะมีอิทธิพลต่อการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2555 ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนการผลิต (ทั้งค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน) ยังอาจเป็นตัวแปรเพิ่มเติม ที่จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสินค้าส่งออกที่ไทยเสียเปรียบด้านราคาต่อคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี ศักยภาพการเติบโตของการค้าชายแดน น่าจะเป็นทางออกหนึ่งสำหรับธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับชายแดนไทยในกลุ่ม CLMV ที่น่าจะสามารถรักษาทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องไปในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพม่าที่เริ่มมีการเปิดประเทศ และน่าจะเป็นแหล่งที่ดึงดูดการลงทุนได้ไม่ยากในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ ในการขยายการส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าทุน/เครื่องจักร ตลอดจนสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลาง ในขณะที่ กำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็นับเป็นโอกาสของสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยที่ประเทศเพื่อนบ้านมีความคุ้นชินอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

สำหรับภาพรวมของแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2555นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสำหรับปี 2555 ไว้ที่ร้อยละ 7.0-15.0 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 10) โดยยังต้องติดตามทั้งประเด็นเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่เหลือของปีต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า