Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2555

การค้า

ไทยอาจเสียสิทธิ GSP ตามระบบใหม่ของ EU … แต่ประเด็นเฉพาะหน้า ยังต้องจับตาวิกฤตยูโรโซนและประเทศคู่แข่งขัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3310)

คะแนนเฉลี่ย

สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ได้ประกาศปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) โดยระบบ GSP ใหม่นี้ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา EU เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การให้ GSP ของ EU นั้น จะยกเลิกการให้ GSP แก่ประเทศที่มีรายได้ตั้งแต่ระดับปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไป (Upper-Middle Income) และจะมุ่งให้สิทธิพิเศษเพื่อสนับสนุนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทยเข้าข่ายประเทศที่จะถูกยกเลิกสิทธิ GSP เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบัน ไทยจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จะมีระยะเวลาให้ปรับตัวประมาณ 1 ปี ซึ่งหมายความว่าการสูญเสียสิทธิ GSP จาก EU ของไทยอาจมีผลอย่างแท้จริงประมาณเดือนมกราคม 2558

สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบในกรณีที่ไทยสูญเสียสิทธิ GSP ของ EU นั้น คาดว่าจะครอบคลุมรายการสินค้าประมาณร้อยละ 39 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด ซึ่งในภาพรวมแล้วจะมีผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไป EU โดยเฉลี่ยมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 โดยผลกระทบอาจจำแนกตามระดับความรุนแรงได้ดังนี้

  • สินค้าที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอัตราภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว หรืออัตราภาษีปกติ(MFN) และ GSP ไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ไก่แปรรูป เฟอร์นิเจอร์ ขณะที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ปัจจุบันไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP อยู่แล้ว (สัดส่วนประมาณร้อยละ 38 ของการส่งออกรวมไปยัง EU)

  • สินค้าที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง กล่าวคือ ราคาสินค้าตามอัตราภาษีใหม่จะสูงขึ้นประมาณร้อยละ2-5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์หนัง เลนซ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ทำจากปลา เป็นต้น (สัดส่วนประมาณร้อยละ 56 ของการส่งออกรวมไปยัง EU)

  • สินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก เป็นสินค้าที่มีส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติกับอัตราภาษี GSP สูง เช่น สับปะรดกระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป (สัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกรวมไปยัง EU)

อย่างไรก็ตาม กว่าที่หลักเกณฑ์ใหม่ของ EU จะมีผลบังคับใช้จริง คาดว่าจะเป็นช่วงปี 2557-2558 ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีเวลาสำหรับปรับตัวอีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับในช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้ ปัจจัยที่กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยัง EU น่าจะให้น้ำหนักไปที่ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนและต้นทุนแรงงานของไทยที่อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้กดดันให้การส่งออกของไทยไปยัง EU หดตัวลงร้อยละ 11.4 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกไปยัง EU ทั้งปี 2555 อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 5

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า