Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กรกฎาคม 2555

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มครึ่งหลังปี ’55: ฟื้นตัวไม่ง่าย ... ลุ้น “อาเซียน” แรงขับเคลื่อนหลักพยุงการส่งออก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3316)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จะให้ภาพที่ไม่ค่อยสดใสมากนัก จากการเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนค่อนข้างสูง และเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่า อานิสงส์จากการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งนอกจากจะเป็นช่วง High Season ที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามากที่สุดแล้ว ในบางรายการสินค้าที่ไทยยังรักษายอดการส่งออกในตลาดอาเซียน อาทิ เส้นใยประดิษฐ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดชั้นใน และตลาดญี่ปุ่นอย่าง เสื้อผ้าสำเร็จรูป/ชุดชั้นใน เคหะสิ่งทอ ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยประคองให้ยอดการส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบมากนัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยทั้งปี 2555 น่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7,300-7,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.0-12.0 (YOY) โดยตลาดที่ยังมีความเสี่ยงที่จะหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง คือ ตลาดคู่ค้าในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แต่หากพิจารณาจากตลาดในภูมิภาคเอเชียอย่าง อาเซียน ญี่ปุ่น พบว่า ตลาดกลุ่มนี้ยังคงให้ภาพทิศทางการเติบโตที่เป็นบวก โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ภายหลังจากการก้าวเข้าสู่ตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอันดับ 1 ของไทยและเป็นตลาดดาวรุ่งในปีที่ผ่านมา และคาดว่าต่อไปจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ควรจะเร่งขยายตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพึ่งพาตลาดหลักที่ยังคงซบเซา และเป็นการเตรียมความพร้อมกับสำหรับการก้าวเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและตลาดเดียวกันจาการเปิด AEC ในปี 2558

ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยครึ่งหลังปี 2555 ยังคงต้องจับตาสองประเด็นหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายนอกประเทศที่มาจากความกังวลจากวิกฤตยูโรโซนที่กระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ในขณะที่ทิศทางของตลาดเป้าหมายที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้รวดเร็ว (Quick Response) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ซื้อและซัพพลายเออร์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแหล่งนำเข้า ไปสู่แหล่งผลิตที่มีความได้เปรียบด้านขนส่งและความรวดเร็ว หรือมีต้นทุนแรงงานต่ำ ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่าง การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ที่ยังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน

เมื่อมองต่อไปในระยะข้างหน้า ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะถูกแย่งชิงพื้นที่ทางการตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้น ู้ประกอบการควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ โดย สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มรับจ้างผลิต (OEM) การมองหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า อาจจะเป็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ โดยประเทศเป้าหมายน่าจะตกไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ (OBM) การสำรวจลักษณะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศเป้าหมาย จะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ผู้ผลิตควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน การพัฒนาการบริหารจัดการซ่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า ทั้งในรูปแบบของ Partner หรือ Joint Venture ที่สามารถช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความรวดเร็วของตลาด (Speed to Market) รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ อย่างการเจาะกลุ่มตลาดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ สิ่งทอเทคนิค สิ่งทออินทรีย์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง ยานยนต์ การแพทย์ เกษตร ก็สามารถทำให้ผลตอบแทนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม