Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กรกฎาคม 2555

การค้า

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง...ตัวแปรกำหนดทิศทางการส่งออก และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3322)

คะแนนเฉลี่ย

ข้อมูลการส่งออกเดือนมิถุนายน 2555 ที่กลับมาหดตัวลงอีกครั้งร้อยละ 4.2 (เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ในเดือนพฤษภาคม) เป็นภาพที่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยคงต้องยอมรับว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในช่วงเดือนท้ายๆ ของไตรมาส 2/2555 เป็นปัจจัยที่กดดันให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยต้องล่าช้าออกไป ขณะที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ก็สะท้อนว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นในการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. ทั้งนี้ แม้ว่ากนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ตามความคาดหมายของตลาด แต่ผลการประชุมฯ ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ก็สะท้อนว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ทั้งที่มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกและโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ น่าที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2555 ในกรณีพื้นฐานไว้ที่ร้อยละ 10 เช่นเดิม อย่างไรก็ดี บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง โดยเฉพาะในกลุ่มแกนหลักที่สะท้อนผลทางตรง และภูมิภาคเอเชียที่อาจมีผลทางอ้อมต่อทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการสำหรับการส่งออกในปี 2555 จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 7-15 มาที่กรอบคาดการณ์ใหม่ที่ร้อยละ 7-13 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 น่าจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 15.0 (YoY) เนื่องจากมีผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้าที่ไทยประสบอุทกภัยร้ายแรง

ทั้งนี้ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ประกอบด้วย วิกฤตหนี้ยูโรโซน แนวโน้มเศรษฐกิจจีน และการประคองตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวพัฒนาไปสู่จุดที่มีความเปราะบางมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้เส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกต้องสะดุดลง ท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาคการส่งออกในด้านอื่นๆ อาทิ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกบางประเภท (เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก) และมาตรการกีดกัน/ปกป้องทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

สำหรับประเด็นด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ณ ขณะนี้ เครือธนาคารกสิกรไทยยังคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ได้จนถึงสิ้นปี 2555 บนการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะยังสามารถรักษาแรงส่งการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง และแรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัวขึ้นอย่างเด่นชัด ขณะที่ การปรับเปลี่ยนจุดยืนด้านนโยบายของ กนง.ไปในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย คงไม่เกิดขึ้นยกเว้นว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) จะสะท้อนภาพที่เลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า