Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กันยายน 2561

อุตสาหกรรม

ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี’61 : ตลาดซื้อกิน/เป็นของฝากหนุนการเติบโต...มูลค่าตลาด 930 ล้านบาท(กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2926)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 930 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 (YoY) จากที่ทรงตัวในปี 2560 โดยความต้องการซื้อเพื่อกิน/เป็นของฝาก ซึ่งมีมูลค่าต่อชิ้นสูง เนื่องจากการออกแบบรสชาติและบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่าง ทรงคุณค่า กำลังมีบทบาทมากขึ้น ทดแทนการซื้อไปไหว้ตามประเพณีที่ถูกตัดทอนให้เหลือเท่าที่จำเป็นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

            สำหรับภาพรวมตลาดขนมไหว้ระจันทร์ในปี 2561 ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการสำรวจจากพฤติกรรมผู้บริโภคพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ตลาดยังคงเติบโตจากกลุ่มที่ซื้อกิน/เป็นของฝาก ที่ทวีความสำคัญมากขึ้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คนกล้าจับจ่ายมากขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตบางรายมีการพัฒนารูปแบบไส้และบรรจุภัณฑ์ที่มีความพิเศษ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีกับผู้ซื้อและผู้รับ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น พิจารณาได้จากเม็ดเงินในการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ที่สูงกว่ากลุ่มที่ซื้อไปไหว้เฉลี่ยประมาณร้อยละ  20  โดยซื้อไปกิน/เป็นของฝากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 870 บาทต่อคน ขณะที่ซื้อไปไหว้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 640 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ในส่วนของไส้ของขนมไหว้พระจันทร์ก็มีพัฒนาการเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น อาทิ คัสตาร์ด ชาเขียว แมคคาเดเมีย ที่ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่พัฒนาออกมาเพื่อจับตลาดคนรุ่นใหม่
  • ราคาสินค้าต้องสมเหตุสมผล แม้กลุ่มที่ซื้อไปกิน/เป็นของฝากจะมีกำลังซื้อสูง กลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะพร้อมจ่ายเงินเพื่อสินค้าที่ตัวเองชื่นชอบหรือถูกใจ แต่กลุ่มนี้ก็พิจารณาถึงความคุ้มค่า คุ้มราคาควบคู่กันด้วย ทั้งนี้พิจารณาได้จากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 69.0 เห็นว่าปัจจัยบวกที่จะทำให้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพิ่มขึ้นคือกลยุทธ์ด้านโปรโมชั่นพิเศษ และร้อยละ 69.2 ที่เห็นว่าปัจจัยลบที่จะกระทบต่อการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ที่ลดลงคือราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้น การจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะต้องทำรูปแบบสินค้าที่น่าสนใจ ภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล ยกเว้นคนรุ่นใหม่เฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากที่อาจพร้อมจ่ายเพื่อสินค้าที่มีรูปแบบเฉพาะ
  • ความแปลกใหม่ของขนมไหว้พระจันทร์ จะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่ซื้อให้หันกลับมาซื้อ ปัจจุบัน ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เคยซื้อขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามาจากหลายปัจจัย อาทิ ไม่ได้ไหว้ ไม่ชอบทาน และสินค้ามีราคาสูงเกินไป ซึ่งการดึงให้กลุ่มนี้หันมาสนใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มที่ไม่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เห็นว่า ปัจจัยทางด้านความแปลกใหม่ของไส้ที่ไม่มีในตลาดมีความสำคัญเป็นลำดับ 1 ที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อ สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41.7 รองลงมาคือราคาที่คุ้มค่าสัดส่วนร้อยละ 38.9 และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสัดส่วนร้อยละ 16.7 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสินค้าที่บ่งบอกตัวตน ชอบสิ่งใหม่ๆ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเกินไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในตลาดในกลุ่มที่ซื้อไปกิน/เป็นของฝาก และพร้อมจะลองสินค้าที่แปลกใหม่ จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์รายใหม่ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่จะนำเสนอควรมีส่วนผสมที่ลงตัวทั้งรสชาติ ไส้และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ หรือเป็นของพรีเมียมที่มีจำนวนจำกัด (Limited Edition) ที่ไม่สามารถหาได้จากสินค้าในตลาดทั่วไป ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เพื่อสร้างความประทับใจต่อผู้ซื้อหรือผู้ได้รับสินค้าเป็นของขวัญของฝาก อาทิ สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรือการใช้วัสดุทำบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเป็นของหายาก หรืออาจปรับไส้ขนมไหว้พระจันทร์ จากที่นิยมในปัจจุบันเช่นทุเรียนหมอนทอง เป็นไส้ทุเรียนที่ผลิตได้ในปริมาณน้อยแต่ความต้องการมีมาก อาทิ ทุเรียนนนทบุรี ก้านยาว หลงหลินลับแล ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หรือทุเรียนที่เป็นเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม