Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 สิงหาคม 2555

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ธุรกิจอาหารสัตว์ครึ่งหลังปี 2555 บริโภคและส่งออกอาเซียนยังเติบโต แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3327)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศและการขยายของภาคปศุสัตว์ขนาดใหญ่แบบเข้มข้นขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสาขา Fast Food/Food Chain รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ขยายช่องทางไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ไก่ ยังมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดี ตลอดจนความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทย จากปัจจัยทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการอาหารสัตว์มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีรองรับอย่างต่อเนื่อง จึงประมาณการว่า ความต้องการใช้อาหารสัตว์ในปี 2555 อาจมีปริมาณ 15.0-15.5 ล้านตัน ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0-8.0 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2554 ที่ร้อยละ 5.4 โดยเป็นการใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวโพด และอาหารสัตว์ที่ใช้เป็นการใช้ไปในไก่เนื้อและไก่ไข่เป็นหลัก

สำหรับด้านการส่งออก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 การส่งออกอาหารสัตว์ยังคงขยายตัว โดยเน้นไปทางตลาดอาเซียนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากในกลุ่มนี้มีอุปสงค์เนื้อสัตว์รองรับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจอาหารสัตว์เติบโตค่อนข้างดี แม้เผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในสัตว์ ตลอดจนวิกฤติพลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าตลอดทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์จะขยายตัวร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นมูลค่า 250-270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในด้านการลงทุน คาดว่าผู้ประกอบการไทยรายใหญ่มีแผนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เช่น แผนในการตั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และโรงงานแปรรูป ในกัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาจได้รับแรงกดดันด้านราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่ ซึ่งถ้าทิศทางราคาวัตถุดิบสูงขึ้นไม่ยาวนาน และหากไม่มีปัจจัยใดมากระทบต่อภาพรวมของธุรกิจอย่างรุนแรง ก็คาดว่าธุรกิจอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม