Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กันยายน 2555

การค้า

[AEC Plus] ส่งออกไปจีนเดือนก.ค.หดตัวร้อยละ 7.5(YoY) ครั้งแรกในรอบปี ลุ้นไตรมาสสุดท้าย คาดทั้งปีโตร้อยละ 6-10 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3344)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนเดือนก.ค.หดตัวร้อยละ 7.5(YoY) ครั้งแรกในรอบปี โดยมีมูลค่าส่งออก 2,247 ล้านดอลลาร์ฯ ร่วงลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1(YoY) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 19.4 (YoY) มีมูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์ฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้น 976 ล้านดอลลาร์ฯ การหดตัวดังกล่าวเป็นสัญญาณที่สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี เนื่องจากไทยพึ่งพิงการค้ากับจีนค่อนข้างมากอีกทั้งที่ผ่านมาจีนยังเป็นแรงส่งที่สำคัญของไทยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ภาพดังกล่าวตอกย้ำการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่อัตราร้อยละ 7.8 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และการค้า รวมทั้งยอดสินเชื่อในประเทศประเทศที่ต่างก็เติบโตช้าลง ไม่เว้นแม้แต่ยอดการส่งออกของจีนเองที่ขยายตัวในระดับต่ำกว่าความคาดหมายในเดือน ก.ค. ด้วยอัตราเพียงร้อยละ 1.0(YoY) เท่านั้น สำหรับการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2555 นั้นแม้ว่ายังคงเติบโตในเกณฑ์บวกด้วยอัตราร้อยละ 5.1(YoY) โดดเด่นกว่าคู่ค้าหลักอื่นๆ(เป็นรองเพียงอาเซียน) แต่ก็ต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นระดับต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

จากตัวเลขการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 7 เดือนแรกที่เติบโตช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 6-10 จากเดิมที่คาดว่าน่าจะเติบโตร้อยละ 10-15 ทั้งนี้ ประเด็นที่อาจกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับจีนที่ต้องจับตาอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คือ การประคับประคองเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป โดยความสำเร็จของการแก้ไขวิกฤตหนี้ในยุโรปยังคงต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายด้านซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางอาจกระตุ้นให้ทางการจีนมีแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น

ในท้ายที่สุดแล้วสินค้าส่งออกจากไทยที่ยังต้องพึ่งพิงการค้ากับจีนเป็นสำคัญก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตหนี้ของยุโรปที่ผ่านมายังจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นซัพพลายเชนของการผลิตในจีนและตลาดยุโรป ทั้งนี้กลุ่มสินค้าไทยที่ต้องเตรียมรับมือกับการชะลอตัวค่อนข้างมาก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สิ่งทอ(ชนิดไม่ถัก) พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าในกลุ่มที่ต้องพึ่งตลาดการบริโภคในจีนอาจได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า