Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 กันยายน 2555

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ธุรกิจการบินของไทยช่วงที่เหลือของปี 2555 ยังเติบโต ...แต่ยังต้องเร่งสร้างศักยภาพรองรับ AEC (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3348)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มธุรกิจการบินในช่วงที่เหลือของปี 2555 น่าจะยังมีทิศทางที่จะเติบโตได้ จากการเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางการบินใหม่รองรับความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้จากการเข้าสู่ความร่วมมือภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้การขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง จากทั้งการเปิดเสรีด้านบริการ และสินค้าหลายประเภท จะทำให้เกิดการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าธุรกิจขนส่งของไทยและโดยสารทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 126,500 ล้านบาท เป็น 140,000 ล้านบาท ในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากปี 2554 จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้ง การท่องเที่ยว การเปิดเสรีด้านการบริการทางการบิน การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกต่อการขนส่งทางอากาศมากขึ้น ทั้งในด้านเครือข่ายครอบคลุม และความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งทางอากาศที่สูงขึ้น ในด้านของการท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของธุรกิจการบิน

อย่างไรก็ตาม ในด้านปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น ธุรกิจการบินยังคงต้องเผชิญกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนและความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นความท้าทายในระยะข้างหน้า ที่สำคัญคือการเปิดเสรีภาคบริการโลจิสติกส์ภายใต้กรอบ AEC รวมทั้งการเปิดเสรีการบิน ภายใต้ความร่วมมือในการจัดตั้งตลาดการบินร่วมอาเซียน (ASEAN Single Aviation Market) ซึ่งในด้านหนึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจการบินของไทยในการขยายตลาดในภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบ จากการแข่งขันที่จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อธุรกิจการบินต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านการบินในภูมิภาคได้อย่างเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งพัฒนาและเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินมากขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยเอกชนและภาครัฐจะต้องปรับตัวต่อการแข่งขันที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากการเข้าสู่ AEC อย่างเต็มตัวในปี 2558 โดยภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของท่าอากาศยาน ไม่ว่ารันเวย์ อาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารและสายการบิน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของระบบการให้บริการ เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และสินค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง (Connectivity) กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อจูงใจให้สายการบินจากนานาประเทศเลือกใช้ไทยเป็นจุดหมายปลายทาง หรือจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ธุรกิจการบินจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของภาคธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศและการโดยสารทางอากาศ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จาก AEC ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม