Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ตุลาคม 2555

การค้า

[AEC Plus] ส่งออกไทยไปจีนเดือนส.ค.หดตัวร้อยละ 12.9(YoY)...แต่สินค้าไทยยังเป็นที่นิยมในจีนเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน(ASEAN)(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3360)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจจีนในด้านต่างๆ ทำให้การส่งออกไทยไปจีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนในภาคการผลิตของจีนที่มีการส่งต่อไปยังสหภาพยุโรป ทั้งนี้ภาพดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้นในเดือนส.ค.ซึ่งภาพรวมของการส่งออกไทยไปจีนหดตัวค่อนข้างมากถึงร้อยละ 12.9(YoY) มีมูลค่า 2,338 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 3,277 ล้านดอลลาร์ฯ ยังคงขยายตัวร้อยละ 8.9(YoY) ไทยจึงขาดดุลการค้ากับจีน 939 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2555 คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปจีนน่าจะยังไม่กลับมาในระดับปกติ แม้ว่าผลของฐานในปีก่อนที่มีระดับต่ำ(จากผลกระทบของเหตุอุทกภัย)จะทำให้อัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 กลับมาเป็นบวกได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2555 นี้ จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ก่อนจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2556 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของจีนเริ่มปรากฎผล โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตได้ร้อยละ 8.1 ในปี 2556 เร่งตัวจากในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี

อาจกล่าวได้ว่า จีนเป็นความหวังสำคัญต่อการพลิกฟื้นภาคการส่งออกของไทยรวมไปถึงประเทศต่างๆในอาเซียนในระยะต่อไป เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน แต่ในอีกด้านหนึ่งอาเซียนก็เป็นตลาดที่ช่วยประคับประคองการส่งออกของจีนด้วยเช่นกัน โดยอาเซียนซึ่งเป็นเสมือนเครื่องพยุงภาคการส่งออกของจีนที่ประสบภาวะชะลอตัว นอกเหนือไปจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการที่ช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิตและการค้าของจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการส่งออกของจีนในเดือนส.ค.เติบโตค่อนข้างต่ำที่อัตราร้อยละ 2.7(YoY) แต่การส่งออกของจีนไปอาเซียนยังเติบโตได้ร้อยละ 10.3(YoY) ในเดือนส.ค. และในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 15.5(YoY) ทั้งนี้ อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญอันดับ 4 ของจีน มีสัดส่วนการค้าถึงร้อยละ 9 ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการค้าเพียงร้อยละ 7.8 จะกล่าวได้ว่าอาเซียนมีบทบาทที่สำคัญกับจีนในเชิงเศรษฐกิจไม่น้อย ขณะเดียวกันจีนเองก็เป็นแหล่งนำเข้าต้นทุนต่ำที่สำคัญของอาเซียน จะเห็นได้ว่าประเทศอาเซียนนำเข้าสินค้าจากจีนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอาทิ พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย เพราะสินค้าจีนเป็นสินค้าต้นทุนต่ำสามารถตอบโจทย์การบริโภคได้พอสมควร จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและการบริโภคในแต่ละประเทศในอาเซียนอย่างกว้างขวาง

ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของจีน(ส่งออก+นำเข้า) โดยเฉพาะในด้านการนำเข้าของจีน ประเทศไทยก็เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีนด้วยเช่นกัน(เป็นรองเพียงมาเลเซีย) แม้ว่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากอาเซียนจะเป็นสินค้าในกลุ่มที่ใกล้เคียงกันแต่ก็สะท้อนได้ว่าสินค้าของไทยค่อนข้างมีศักยภาพในตลาดจีนเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นคือการรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนท่ามกลางการแข่งขันของประเทศต่างๆในอาเซียนด้วยกัน อันได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ซึ่งประเทศอื่นๆในอาเซียนอาจเข้ามามีบทบาททดแทนสินค้าไทย หากพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถคงคุณภาพตอบโจทย์การบริโภคในจีน ขณะที่สินค้าที่เน้นด้านทรัพยากรในประเทศ อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง ไทยก็อาจจะยังคงรักษาตลาดได้อยู่แต่ก็ควรเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า อีกประเด็นที่ควรตระหนักคือมาตรการทางการค้าที่จีนเริ่มหยิบยกมาใช้เพื่อกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสินค้า เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า