Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2555

อุตสาหกรรม

ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยคาดเติบโตร้อยละ 1.8 สั่งลาปีมังกร...คาด ฮาร์ดดิสไดรฟ์ช่วยกระตุ้นตลาดปี 2556 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2300)

คะแนนเฉลี่ย

สำหรับอุตสาหกรรมการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งจากวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 อันเป็นผลต่อเนื่องทำให้โรงงานบ้างส่วนยังผลิตไม่เต็มที่และปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศยุโรป อย่างไรก็ดี การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก สินค้าหลักที่ส่งออกไปสหรัฐฯที่ขยายตัวสูงคือ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ระบบเครื่องการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เนื่องจากการเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ความต้องการหน่วยบันทึกความจำเพิ่มสูงขึ้น แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกที่หดตัวรุนแรงคือ วงจรรวม ไมโครแอสเซียมบลี และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 1.8 จากหดตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2554

สำหรับปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก จากปัจจัยหนุนเศรษฐกิจโลกที่คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นผลให้นักลงทุนยังสนใจประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เห็นได้จากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2555 มีมูลค่าเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 ประกอบกับปัจจัยหนุนเฉพาะยังคงเป็นการเติบโตของธุรกิจให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์ คาดว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2555 อีกปัจจัยบวกคือการเปิดตัวของระบบปฏิบัติการใหม่ที่มองว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางปีหน้า อีกทั้งความต้องการสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต คาดว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องระวัง เช่น วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐฯ และการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ สำหรับปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีมูลค่าประมาณ 33,500-35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0-8.0

ข้อเสนอแนะ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ในไทยอาจปรับโครงสร้างการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกมากขึ้น อาทิ การปรับมาผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เพื่อระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆมากขึ้น การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบา การผลิตแผงวงจรไฟฟ้า ไมโครแอสเซียมบลีและเซมิคอนดักเตอร์ โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตเพื่อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้นและมีขนาดชิปที่เล็กลง พร้อมๆกับกระจายความเสี่ยงไปในอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีเทรนเติบโต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น โซล่า อินเวอร์เตอร์ หลอดไฟประหยัดพลังงานแอลอีดี ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค เช่น กล่องสมาร์ททีวี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม