Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มกราคม 2556

การค้า

สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเลี่ยงหน้าผาการคลังยกแรก...หนุนการฟื้นตัวของการส่งออกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3399)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดการเงินโลกรับข่าวดีหลังปีใหม่ที่กฎหมายแก้หน้าผาการคลังสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส โดยวุฒิสภา (คะแนนเสียง 89:8) และสภาผู้แทนราษฎร (คะแนนเสียง 257:167) ได้ลงมติรับร่างกฎหมายเลี่ยง Fiscal Cliff ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ซึ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ไม่ประสบกับสถานการณ์พลิกผันจากแรงฉุดครั้งใหญ่ทางด้านการคลัง อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นการคลังอื่นๆ ที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรส จะต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ภายในช่วง 2 เดือนข้างหน้า

- ร่างกฎหมายเลี่ยง Fiscal Cliff ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรส ทำให้มุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.9 (กรอบประมาณการร้อยละ 1.4-2.4) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ขั้นตอนการลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวจะเลยเส้นตายสิ้นปี 2555 มาแล้ว แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่น่าจะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายจากการตกหน้าผาการคลัง เพราะสภาคองเกรสสามารถระบุให้กฎหมายแก้ Fiscal Cliff นี้ มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ม.ค. 2556 ได้

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมประเด็นทางด้านภาษีเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการปรับให้มาตรการปรับลดอัตราภาษีที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2544 เป็นมาตรการถาวร โดยจะครอบคลุมบุคคลธรรมดาหรือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 ดอลลาร์ฯ หรือ 450,000 ดอลลาร์ฯ ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ บุคคลธรรมดา/ครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่าระดับดังกล่าว จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.6 จากร้อยละ 35.0 และประชาชนกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีกำไรจากการซื้อ-ขายหุ้น/สินทรัพย์ Capital Gain Tax และเงินปันผล เพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 20 (จากร้อยละ 15) นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังน่าจะมีการขยายเวลาสิทธิประโยชน์ด้านการประกันการว่างงาน และการลดหย่อนภาษีสำหรับในส่วนอื่นๆ อาทิ บุตรและการศึกษา ออกไปด้วยเช่นกัน

- ร่างกฎหมายแก้ Fiscal Cliff ยังไม่ใช่คำตอบที่ครบถ้วนสำหรับโจทย์ทางด้านการคลังของสหรัฐฯ เนื่องจากทำเนียบขาวและสภาคองเกรส ยังคงต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาใน 2 เรื่องใหญ่ในช่วงประมาณ 2 เดือนข้างหน้า ได้แก่

1) รายละเอียดของการตัดลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติวงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ สำหรับในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องเริ่มขึ้นตั้งแต่ในปี 2556 นี้ โดยร่างกฎหมายแก้ Fiscal Cliff ที่ผ่านสภาคองเกรสในช่วงหลังปีใหม่นี้ ได้เลื่อนเวลาการตัดงบรายจ่ายของรัฐโดยอัตโนมัติออกไปเป็นเวลา 2 เดือนเท่านั้น

2) การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นจาก 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะชนเพดานไปแล้วตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2555 แต่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังสามารถประวิงเวลาด้วยเครื่องมือชะลอ/ระงับรายจ่ายเข้าบางกองทุน เพื่อเลี่ยงไม่ให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะกระทบกระเทือนอันดับเครดิตของประเทศ แต่กระนั้น เครื่องมือนี้ อาจต่อเวลาสำหรับการบริหารจัดการหนี้ได้เพียงชั่วคราวประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า การหาข้อสรุปสำหรับระดับเพดานหนี้ใหม่ ก็เป็นโจทย์การคลังอีกโจทย์หนึ่งที่รออยู่ในระยะใกล้ๆ นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่สภาคองเกรสและทำเนียบขาวสามารถหาบทสรุปในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ไปได้ในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับโจทย์การคลังของสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการแก้โจทย์ทางด้านการคลังอื่นๆ โดยเฉพาะการเจรจาตัดลดงบรายจ่ายของรัฐโดยอัตโนมัติและการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะที่รออยู่ในช่วงประมาณ 2 เดือนข้างหน้า โดยความเป็นไปได้ของสถานการณ์พลิกผันของแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ที่ลดระดับลงไปอย่างมีนัยสำคัญนี้ น่าจะส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทย โดยผลทางตรง อาจสะท้อนผ่านสัญญาณเชิงบวกต่อภาคการส่งออกของไทย (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยอาจขยายตัวเร่งขึ้นไปที่ร้อยละ 12.5) ขณะที่ผลทางอ้อมนั้น อาจสะท้อนผ่านมาทางการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งก็คงจะบรรเทาความผันผวนด้านค่าเงินสำหรับผู้ประกอบการไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า