Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2556

เกษตรกรรม

ส่งออกกุ้งปี’56 อาจฟื้นตัวได้ ...ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2307)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 2556 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3-7 (YoY) โดยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่คาดว่าการส่งออกกุ้งในปี 2555 หดตัวลงถึงร้อยละ 14 (YoY) ซึ่งนับว่าเป็นการหดตัวลงสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยปัจจัยหลักที่อาจส่งผลให้การส่งออกกุ้งในปี 2556 ฟื้นตัว มาจากทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญของไทย รวมถึงความคลี่คลายปัญหาด้านการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล โดยการจัดทำแนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) รวมถึงการเร่งจัดการปัญหาโรคกุ้ง

การส่งออกกุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2556 ยังคงมีแนวโน้มที่สดใสต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูป ซึ่งคาดว่าไทยยังคงครองตลาดในการเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งแปรรูปที่สำคัญอันดับ 1 ของตลาดญี่ปุ่น จากคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับคู่แข่งอื่น อาทิเช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์ในการขยายตลาดจากการที่ญี่ปุ่นยกเลิกการนำเข้ากุ้งจากอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักที่ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังญี่ปุ่น ภายหลังจากที่ตรวจพบว่ามีการใช้สารแอนตี้ไบโอติกในการเลี้ยงกุ้ง

แม้ว่าภาพรวมของการส่งออกกุ้งในปี 2556 จะฟื้นตัว แต่ในระยะถัดไป อุตสาหกรรมกุ้งไทยก็ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรม ได้แก่ ประเด็นเรื่องการยกเลิกให้สิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป การใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนของสหรัฐฯ (Countervailing Duty: CVD) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่าขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ประกอบการไทยในอนาคต

ดังนั้น นอกจากผู้ประกอบการในธุรกิจจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ยังควรที่จะเตรียมวางแผนรับมือภาระต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเร่งบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละตลาด การพัฒนาวัตถุดิบกุ้งให้สามารถส่งออกในรูปของอาหารสำเร็จพร้อมทานมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ปรับปรุงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม