Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มกราคม 2556

การค้า

ส่งออกปี’ 55 ขยายตัวร้อยละ 3.12...คาดปี’56 โตดีขึ้น แต่ต้องจับตาผลกระทบต้นทุนและค่าเงิน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3403)

คะแนนเฉลี่ย

แม้การส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี 2555 จะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 13.45 (YoY) แต่การปรับตัวลดลงของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร ก็ฉุดให้มูลค่าส่งออกในเดือนธ.ค. 2555 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 18,101.4 ล้านดอลลาร์ฯ ต่ำกว่า เดือนพ.ย. 2555 อยู่ราวร้อยละ 7.44 (MoM) และส่งผลให้ภาพการส่งออกทั้งปี 2555 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.12 ด้วยมูลค่า 229,519 ล้านดอลลาร์ฯ

แม้ทิศทางการส่งออกปี 2555 จะสะท้อนภาพที่อ่อนแอจากปัจจัยรุมเร้าหลายด้าน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักที่เริ่มมีทิศทางบวกต่อเนื่อง และสัญญาณการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ปรากฎชัดเจนขึ้น ในช่วงจังหวะเดียวกับที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในฟากฝั่งตะวันตกเริ่มผ่อนคลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2555 ก็น่าจะช่วยหนุนให้การส่งออกในปีงูเล็กมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยน่าจะเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ก่อนจะกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 และส่งผลให้ทั้งปี 2556 การส่งออกสามารถขยายตัวในกรอบร้อยละ 10.0-15.0

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาผลกระทบจากตัวแปรที่อาจทำให้กระบวนการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกบางชนิดต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะราคาปัจจัยการผลิตในประเทศที่ขยับเพิ่มขึ้นและทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจทำให้สินค้าที่ต้องพึ่งพาการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้วตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะสามารถประคองตัวผ่านไปได้อย่างดี ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน เชื้อเพลิงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเหล็กและผลิตภัณฑ์ ที่เติบโตตามตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและการขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นอาจถูกชดเชยด้วยต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางที่ลดลงจากอานิสงส์ของเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ยังคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาไว้ได้ ขณะที่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็น่าจะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์โลกที่เร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน อุปทานในตลาดโลกที่ยังมีข้อจำกัด ก็น่าจะช่วยพยุงราคาและปริมาณส่งออกไม่ให้ไถลลงและดูดซับผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไปได้บ้าง ส่วนอาหารแปรรูปนั้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตได้จากหลายปัจจัยหนุน อาทิ จุดเด่นด้านคุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง และแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้จากตลาดเอเชีย เช่นเดียวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ที่แม้ว่าภาพของการส่งออกจะยังไม่ปรากฎสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากนัก แต่ก็น่าจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำลงตามการแข็งค่าของเงินบาท และช่วยให้ยังสามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

นอกเหนือจากตัวแปรดังกล่าวที่อาจมีผลต่อการภาวะการส่งออกสินค้าของไทยแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างชาติจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่ผู้นำที่มีแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่ผ่อนปรน ก็อาจจะทำให้โอกาสในการเผชิญหน้าระหว่างประเทศดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ความตึงเครียดดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย แต่คงต้องคำนึงถึงผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นหากความขัดแย้งทวีความรุนจนมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าในภูมิภาค ก็คงจะทำให้ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกหลักในเอเชียยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า