สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค.2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแม้จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่ก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 32.0 และชะลอลงจากที่เร่งตัวสูงถึงร้อยละ 82.3 (YoY) ในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังกลับมาหดตัวลงร้อยละ 6.3 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า นำโดย การชะลอการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยาสูบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคอุตสาหกรรมไทย อย่างไรก็ตาม การทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก น่าจะเป็นแรงหนุนให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2556
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ (ทั้งการฟื้นตัวจากน้ำท่วมปี 54 และทิศทางเศรษฐกิจโลก) ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นร้อยละ 4.5 ในปี 2556 ซึ่งเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ในปี 2555 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ทิศทางการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทตั้งแต่ต้นปี 2556 นี้ อาจเป็นข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งอาจฉุดรั้งให้การฟื้นตัวไม่ราบรื่นเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ยังมีโอกาสที่ต้นทุนการผลิตประเภทอื่นๆ จะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร ทั้งเมล็ดพันธุ์และอาหารสัตว์ เนื่องมาจากภาวะภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและเชื้อเพลิงของภาคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าของตลาดทั้งในและต่างประเทศก็ยังคงมีตัวแปรที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และทิศทางค่าเงินบาท ที่อาจส่งผลความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการก็คงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถประคองธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมการผลิต การเปลี่ยนสถานะจากผู้รับจ้างผลิตมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง มองหาช่องว่างทางการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ส่วนเพิ่มได้ทันต่อภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้ามากระทบการดำเนินกิจการได้ทุกขณะ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรอาศัยช่วงจังหวะและประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อแสวงหาต้นทุนธุรกิจราคาถูกในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสำรวจและเปิดตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีเพื่อเป็นตลาดใหม่ และทดแทนตลาดหลักเก่าที่อาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น