Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กุมภาพันธ์ 2556

การค้า

[AEC Plus] ตลาดจีนปี' 56 รุ่ง ...สินค้าไทยได้อานิสงส์ ตามความเป็นเมืองที่เริ่มขยายตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2314)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนปี 2556 ขาขึ้น โดยผ่านพ้นจุดต่ำสุดเติบโตเร่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ดันทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 อันมีส่วนหนุนนำการส่งออกของไทยไปจีนสามารถพลิกกลับมาขยายตัวติดกัน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2555 ทำให้ยอดส่งออกทั้งปีมีมูลค่า 26,899 ล้านดอลลาร์ฯ เติบโตร้อยละ 2.5 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อานิสงส์เศรษฐกิจจีนที่ก้าวพ้นจุดต่ำสุดสู่เส้นทางการเติบโตในปี 2556 อาจจะดึงการส่งออกของไทยไปจีนพลิกกลับมาโตได้ด้วยอัตราเร่งราวร้อยละ 13 แตะมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจช่วยให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนลดลง

สินค้าเด่นของไทยได้รับอานิสงส์เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งผลทางตรงจากการฟื้นตัวของการบริโภคในจีนเอง และผลทางอ้อมผ่านตลาดโลกที่หนุนนำเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในจีน ได้แก่ สินค้าส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประกอบยานยนต์ เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง และผลไม้ เป็นต้น

นโยบายกระจายความเป็นเมือง(Urbanization)...เอื้อการบริโภคของจีนเติบโตในระยะยาว ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับที่ 12 (ปี 2554-2558) ที่ก้าวเดินมาได้ครึ่งทาง ก็เริ่มเห็นสัญญาณการกระจายตัวของความเป็นเมืองลงลึกสู่พื้นที่ตอนในของจีน เพิ่มเติมขึ้นมาจากเมืองเศรษฐกิจที่เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพัฒนาการดังกล่าวคงต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในจีนในระยะต่อไปให้เติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความเป็นเมืองที่กระจายครอบคลุมสู่พื้นที่ต่างๆของจีนมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คาดว่าในปี 2558 (สิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12) ระดับรายได้ของคนจีนจะแตะระดับเฉลี่ย 7,900 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี(จากรายงานของ IMF ประมาณการว่ารายได้ต่อหัวของจีนในปี 2555 อยู่ที่ราว 6,640 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี ของไทยอยู่ที่ 6,364 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี) และประชากรจีนกว่าครึ่งประเทศจะมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย สะท้อนศักยภาพการบริโภคของจีนที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ตอนในรวมถึงเมืองระดับรองและเขตชนบทของจีนที่มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น อันจะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดได้หลากหลาย ในขณะที่สินค้าไทยก็ยังคงรักษาตลาดหลักด้านมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออกได้อย่างเหนียวแน่นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ พื้นที่เมืองระดับรองและเขตขนบท รวมทั้งพื้นที่ตอนในของจีนที่ทยอยเติบโตจะก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยเติมเต็มการขยายตัวด้านการบริโภคในจีนอย่างยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว อันจะผลักดันสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยกระจายตัวลึกเข้าสู่ตอนในและชนบทของจีนได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของไทยก็ยังได้อานิสงส์เกาะติดตามผู้ผลิตที่ขยับตัวเข้าหาตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ ของจีนด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยในการขยายแผนธุรกิจหรือกลยุทธ์เพื่อจับตลาดตอนในของจีนที่มีทิศทางการเติบโตตามแผนการกระจายความเป็นเมือง

อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่และผู้เล่นหลากหลาย ทำให้การเข้าสู่ตลาดจีนอาจเผชิญการแข่งขันจากทั้งนักธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ รวมทั้งต้องแข่งขันกันในเชิงกลยุทธ์ทางการตลาดในการจับกลุ่มลูกค้าที่มีความเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาทื่เหมาะสม เนื่องจากผู้บริโภคในจีนยังมีความอ่อนไหวต่อราคาอยู่มาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า