Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กุมภาพันธ์ 2556

การค้า

เปิดศักราชส่งออกปีงูเล็ก: ฟื้นตัวจากปี 2555 คาดทั้งปี 2556 เติบโตในกรอบร้อยละ 8.0-13.0 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3413)

คะแนนเฉลี่ย
การส่งออกของไทยในเดือนม.ค. 2556 ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนภาพการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 16.09 (YoY) ด้วยมูลค่า 18,268.96 ล้านดอลลาร์ฯ โดยแม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของฐาน แต่มูลค่าการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.93 (MoM) จากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นภาพที่สะท้อนว่าจังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเมื่อพิจารณาตามโครงสร้างตลาดส่งออก พบว่า คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากไทยปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ซึ่งเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดอาเซียนก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ด้านการนำเข้าในเดือนม.ค. 2556 เร่งตัวขึ้นมาที่ระดับ 23,755.80 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 40.87 (YoY) และร้อยละ 16.06 (MoM) นำโดย การนำเข้าทองคำ สินค้าทุน/เครื่องจักร และวัตถุดิบขั้นกลาง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 2556 รวมทั้งส่งผลให้ไทยบันทึกการขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5,486 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี การขาดดุลดัวกล่าวยังไม่บ่งชี้สัญญาณที่น่ากังวล เพราะหากไม่นับรวมทองคำแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการบางส่วนได้ใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าในการสะสมสต็อกวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าในอนาคต
สำหรับในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ทิศทางของการส่งออกในปี 2556 จะอยู่บนเส้นทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เนื่องมาจากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพเศรษฐกิจโลก ทิศทางของประเทศคู่ค้าหลัก และตลาดศักยภาพใหม่ในอาเซียน โดยคาดว่า การส่งออกของไทย อาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 8.0-13.0 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 10.5อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้บางสินค้าที่ประสบภาวะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้วตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญบางประเภท ที่แม้ในด้านหนึ่งอาจได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางถูกลง แต่ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดเพราะผลของความเสียเปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วยเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า