Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2556

เกษตรกรรม

การส่งออกไก่เนื้อของไทยปี’56 คาดโตต่อเนื่อง...จากอานิสงส์การเปิดตลาดไก่สดไปยังคู่ค้าหลัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2336)

คะแนนเฉลี่ย

การที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อสินค้าไก่ไทยในสายตาคู่ค้าต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ได้ประกาศยกเลิกการระงับการนำเข้าไก่สดจากไทย นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มมีท่าทีที่สนใจจะหันกลับมานำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยอีกครั้ง โดย ณ ขณะนี้ ทางญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบระบบการผลิตของไทย (17-27 มีนาคม 2556) ส่วนเกาหลีใต้นั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการรอการรับรองการส่งออกภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ได้เดินทางมาตรวจโรงงานแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อของไทยในปี 2556 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.35-2.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตร้อยละ 7-10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการขยายตัวร้อยละ 10 ในปี 2555 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังคู่ค้าหลักที่สำคัญทั้งญี่ปุ่นและอียู โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่หากญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก็จะยิ่งเป็นแรงเสริมหลังจากที่อียูได้อนุญาตการนำเข้าไก่สดจากไทยตั้งแต่กลางปี 2555 ขณะที่ สินค้าไก่แปรรูปของไทยก็น่าจะยังคงได้รับการตอบรับและมีคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าหลักจากญี่ปุ่นและอียูอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากสภาวะต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับตัวผันผวน และต้นทุนด้านอื่น ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน และค่าสาธารณูปโภค ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น การรักษาความเป็นผู้นำในด้านการส่งออกไก่เนื้อเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา พร้อมๆ ไปกับการแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดอาหารฮาลาล และอานิสงส์จากการเปิดเสรี AEC นอกจากนี้ ก็ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนปศุสัตว์เพื่อดูแลความเคลื่อนไหวของราคาอาหารเลี้ยงสัตว์ และความคืบหน้าของการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร เพราะอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจส่งออกไก่เนื้อได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม