Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มีนาคม 2556

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ธุรกิจเครื่องสำอางไทยในเมียนมาร์รุ่ง: เติบโตรับการเปิดประเทศ … คาดปี’56 ยอดส่งออกพุ่งร้อยละ 40.0 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2340)

คะแนนเฉลี่ย
กระแสการค้าการลงทุนจากนานาประเทศที่หลั่งไหลไปยังเมียนมาร์ มีส่วนผลักดันให้เกิดการกระจายรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวเมียนมาร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และกระตุ้นให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง เครื่องสำอาง[1] มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
  • อานิสงส์จากการเปิดประเทศหนุนกำลังซื้อในเมียนมาร์เติบโต ทั้งนี้ ความต้องการเครื่องสำอางนำเข้าของเมียนมาร์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงปี 2551-2554 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมด
  • ไลฟ์สไตล์ของหนุ่มสาววัยแรงงานเมียนมาร์เริ่มเปลี่ยนแปลง และให้ความนิยมสินค้าเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้ง ที่เริ่มเข้าสู่สังคมของความเป็นเมือง ในขณะที่การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในเมียนมาร์ คาดว่าน่าจะมีส่วนทำให้สินค้าเครื่องสำอาง มีโอกาสเข้าไปวางจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างสูง
ธุรกิจเครื่องสำอางในเมียนมาร์นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้บริโภคชาวเมียนมาร์ เครื่องสำอางไทยจัดว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังมีความคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน ดังนั้น จากการที่เมียนมาร์เปิดรับสินค้าเครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้น ให้มีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการไทยจะเปิดเกมรุกตลาดเครื่องสำอางในเมียนมาร์ได้มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องสำอางไทยไปเมียนมาร์ ปี 2556 น่าจะมีโอกาสทะยานสู่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตถึงร้อยละ 40.0 (YoY) โดยสินค้าที่มีโอกาสสูงในการเจาะตลาดในพม่า ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย อาทิ แชมพู สบู่ ยาสีฟัน รวมไปถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาทิ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมแต่งใบหน้า (อาทิ แป้งทาหน้า ลิปสติก บรัชออน) นอกจากนี้ จากวัฒนธรรมการบริโภคและความเชื่อในสรรพคุณของสมุนไพร ทำให้คาดว่า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร น่าจะมีโอกาสเติบโตในอนาคตเช่นกัน

โดยมีตลาดรองรับเครื่องสำอางที่สำคัญ ได้แก่ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมียวดี และเมืองหลวงเนปิดอว์ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนชนชั้นกลาง พนักงานบริษัทและข้าราชการจำนวนมากของเมียนมาร์ ซึ่งมีความต้องการใช้สินค้าเครื่องสำอางสูง ในขณะที่เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอาทิ เมาะละแหม่ง ก็พบว่าเครื่องสำอางก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการเข้าไปทำตลาดในเมียนมาร์ก็คือ จากการที่ตลาดค่อนข้างเปิดกว้างรับสินค้าใหม่ๆ ทำให้ไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ผู้บริโภคภายในประเทศมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ตามระดับรายได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น คู่แข่ง รวมถึงกฎระเบียบทางการค้าที่สำคัญ เพื่อที่จะสามารถพิจารณาตัวสินค้าให้เหมาะสมผู้บริโภคในแต่ละเมือง รวมถึงเสาะหาพันธมิตรทางการค้าที่เป็นคนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ เพื่อสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าและจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางที่สำคัญที่จะทำให้การเปิดเกมรุกตลาดเครื่องสำอางในเมียนมาร์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น



[1] เครื่องสำอาง(พิกัด HS 33 และ HS 34) ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มทำความสะอาดร่างกาย ดูแลผิวพรรณ และกลุ่มเสริมแต่งความงาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม