Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มีนาคม 2556

การค้า

การส่งออกหดตัวในเดือนก.พ.56…จากผลของฐานและจำนวนวันทำการที่น้อยลง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3418)

คะแนนเฉลี่ย

ทิศทางภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.2556 ในภาพรวมมีทิศทางที่ไม่สดใสนักเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยการส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 5.83 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 17,928 ล้านดอลลาร์ฯ ด้านการนำเข้าเดือนก.พ.2556 มีมูลค่า 19,485 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 (YoY) อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก ก็ทำให้ไทยดุลการค้าของไทยขาดดุลลดลงมาที่ 1,557 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกที่ปรับตัวลดลงในเดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการผลิตในประเทศเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีการผลิตสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ปรับตัวลดลง และส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุสาหกรรมในภาพรวมลดลงร้อยละ 1.19 (YoY) ในเดือนก.พ.2556

แม้ว่าผลของจำนวนวันทำการที่น้อยกว่าปกติและปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ จะมีส่วนทำให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนก.พ.2556 กลับมาหดตัวลงอีกครั้งหลังจากที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ภาพความอ่อนแอดังกล่าวก็เกิดขึ้นในจังหวะที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยังคงมุมมองว่า ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ยังคงมีโอกาสที่จะกลับมาบันทึกตัวเลขเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามอานิสงส์จากประเทศคู่ค้าหลักอื่น โดยเฉพาะ จีน และอาเซียน ที่เศรษฐกิจยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่ดี เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่น่าจะประคองการเติบโตไว้ได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งทำให้คาดว่า หากค่าเฉลี่ยเงินบาทในปี 2556 นี้ ยังคงใกล้เคียง 29.50 บาท/ดอลลาร์ฯ การส่งออกของไทยก็น่าจะสามารถประคองอัตราการเติบโตไว้ได้ในกรอบร้อยละ 8.0-13.0 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามผลกระทบของทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อเส้นทางการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร รวมไปถึงสินค้าที่พึ่งพาแรงงานอย่างเข้นข้น (Labor Intensive Industries) ซึ่งมีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า