Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 เมษายน 2556

การค้า

การส่งออกปี 2556 อาจขยายตัวเพียง 7.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3423)

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมี.ค. 2556 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกมีมูลค่า 20,769 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านการนำเข้าในเดือนมี.ค. 2556 พลิกกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 11.52 (YoY) ด้วยมูลค่า 21,636 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออก ส่งผลทำให้ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค. 2556 ลดลงมาที่ 867 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับที่ขาดดุล 1,557 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.พ.2556 สำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2556 การส่งออก ขยายตัวร้อยละ 4.26 (YoY) ด้วยมูลค่า 56,967 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 64,878 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.44 (YoY) ทำให้ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าในไตรมาส 1/2556 มูลค่า 7,911 ล้านดอลลาร์ฯ

แม้การส่งออกของไทยจะสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ในไตรมาส 1/2556 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยกดดันหลายประการที่เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไตรมาสแรกนั้น น่าจะยังมีผลกระทบที่ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. 2556 ซึ่งแน่นอนว่าคงจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่พึ่งพาการส่งออกต้องประสบปัญหาในการแปลงรายรับกลับมาเป็นรูปเงินบาท และอาจมีผลต่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเมื่อรวมกับความเสี่ยงของทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจทำให้ภาพรวมของการส่งออกในปี 2556 อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 7.0 โดยมีกรอบคาดการณ์ใหม่ที่ร้อยละ 4.0-9.0 เทียบกับกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 8.0-13.0

อนึ่ง หากตัดปัจจัยเรื่องค่าเงินออกไปแล้ว การส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในฟากตะวันออก อาทิ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งก็น่าจะช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยในกลุ่มอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป (อาหาร) สินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการลงทุนและการก่อสร้าง อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน รวมไปถึงยานยนต์และอุปกรณ์ ยังสามารถขยายตัวได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า