Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤษภาคม 2556

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ทิศทางอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโลกกับความท้าทายที่ผู้ผลิตหลักในอาเซียนต้องเร่งปรับตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2359)

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญในระดับโลกโดยพิจารณาได้จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตและการบริโภค ซึ่งพบว่าการผลิตน้ำมันปาล์มของโลกในปี 2555 มีปริมาณ 53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 5.1 โดยอาเซียนจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญของโลกด้วยสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มของโลก อย่างไรก็ตามทิศทางราคาน้ำมันปาล์มยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ราคาพืชผลปาล์มน้ำมันของไทยปรับลดลงในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ช่วงเวลาที่เหลือของปี 2556 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มอาจยังเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์ในอินเดียและจีนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งผลผลิตน้ำมันทดแทนเช่นถั่วเหลืองอาจมีออกมามากขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่ลดลง ส่งผลให้ทิศทางราคาน้ำมันปาล์มโลกปรับตัวลดลง

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐมักเป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินนโยบายลดผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันปาล์มในระยะสั้น ด้วยมาตรการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโครงสร้างธุรกิจปาล์มน้ำมันในแต่ละประเทศ โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียดำเนินนโยบาย ;การปรับลดการเก็บภาษีส่งออก” เพื่อระบายผลผลิตน้ำมันปาล์มโดยส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะที่ไทยซึ่งผลผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก ได้ใช้นโยบายรับซื้อผลผลิตเพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มให้มีรายได้ที่เพียงพอและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าปริมาณน้ำมันปาล์มของไทยนั้นเพียงพอต่อความต้องการในประเทศและไม่ขาดแคลน นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มหลักจากอาเซียนต้องเตรียมพร้อมปรับตัวในระยะยาวโดยยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามมาตรฐานโลก รวมทั้งหาโอกาสเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันผ่านการส่งเสริมการขยายอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าสูงในประเทศ สำหรับผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันไทยเองนั้นควรเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตโดยเฉพาะในด้านต้นทุน และการวิจัยและพัฒนา ให้แข่งขันได้ในภูมิภาค

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม