Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤษภาคม 2556

เกษตรกรรม

ราคายางและปาล์ม...เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยด้านอุปทานโลก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2361)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เกิดการอ่อนตัวของราคายางพาราและปาล์มในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มในระยะใกล้ คือ ปริมาณสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีระดับสูง (สต็อกยางในจีน และสต็อกปาล์มใน 3 ประเทศผู้ผลิตหลัก คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย) รวมถึงอิทธิพลจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันในตลาดโลก และราคาชี้นำในตลาดล่วงหน้าของทั้งยางพาราและน้ำมันปาล์ม อันเป็นผลจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ส่งสัญญาณการขยายตัวชะลอลง ผิดจากความคาดหมายของตลาดที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากความต้องการใช้จากจีนมีมากพอ และราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ดิ่งลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคายางน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่าปาล์มที่ราคาถูกกำหนดโดยมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร มิใช่อาหาร และพลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล) จะยังมีอยู่ในระดับสูง แต่หากราคาปาล์มปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตที่มีความยืดหยุ่นก็อาจพิจารณาใช้พืชอื่นเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตไบโอดีเซลทดแทนได้ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่เร่งขึ้นมาก ความต้องการนำพืชพลังงานไปใช้ทำไบโอดีเซลก็อาจจะมีไม่มากตามไปด้วยเช่นกัน

เป็นที่สังเกตว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของโลก ตามลำดับ แต่การกำหนดราคายังต้องอิงกับความต้องการของผู้นำเข้า และ/หรือนโยบายของคู่แข่งด้วย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน จึงควรต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน โดยนอกจากแผนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญ และการเตรียมยกร่างกฎหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมทั้งสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของทั้งยางพาราและปาล์ม รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม