การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเริ่มมีการชะลอตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตสมาร์ทโฟน เนื่องจากค่าแรงของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้เริ่มมีการย้ายฐานการลงทุนบางส่วนจากจีนไปเวียดนาม จากปัจจัยสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิต ความสะดวกในการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จากปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายค่ายได้ย้ายฐานผลิตบางส่วนจากจีนมายังเวียดนาม อีกทั้งยังดึงดูดผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนเข้ามาตั้งฐานผลิตในเวียดนาม ทำให้ปัจจุบันเวียดนามก้าวมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนและส่วนประกอบ เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนประเทศอื่นๆ
สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามที่มีความต้องการและแนวโน้มการขยายตัวสูง คือ ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี และวงจรพิมพ์ ในขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนกลับมีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจาก หลายๆบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน ได้เริ่มมีการเข้ามาตั้งฐานผลิตในเวียดนามเพื่อทดแทนการนำเข้า ดังนั้นตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามน่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตสมาร์ทโฟน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนามที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง และไม่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีความได้เปรียบ ได้แก่ วงจรพิมพ์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากสายการผลิตของเวียดนามมีการขยายตัวสู่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของกลางน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆนอกเหนือจากสมาร์ทโฟน ทำให้อาจเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในอนาคต ดังนั้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยจึงควรที่จะรักษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงไว้ อย่างไรก็ดี การที่จะสามารถรักษาฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำดังกล่าว ยังต้องอาศัยการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Micro Electronics Design and Embedded System Design) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดังนั้น การพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำควบคู่กับการรักษาอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำ น่าจะเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น