Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2556

การค้า

การส่งออกเดือนพ.ค.2556 หดตัว 5.25% ... ทั้งปี 2556 อาจขยายตัวเพียง 4.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3438)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.2556 สะท้อนภาพความอ่อนแอของสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน ซึ่งขณะนี้เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค. พลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 5.25 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (นักวิเคราะห์คาดว่า จะหดตัวลงร้อยละ 4.35) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.89 (YoY) ในเดือนเม.ย. อนึ่ง การส่งออกที่ไม่นับรวมทองคำ หดตัวลงร้อยละ 6.0 (YoY) ในเดือนพ.ค. พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (YoY) ในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.60 (YoY) ในเดือนพ.ค. นำโดย การส่งออกข้าว ยางพารา กุ้ง ไก่ และน้ำตาล ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 0.15 (YoY) เป็นผลมาจากมูลค่าส่งออกในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ ที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก รวมทั้งเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ยังคงขยายตัว

ด้านการนำเข้าในเดือนพ.ค. หดตัวลงร้อยละ 2.14 (YoY) (เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 8.91 YoY ในเดือนเม.ย.) ตามการหดตัวลงของการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ร้อยละ 1.90 (YoY) และร้อยละ 7.12 (YoY) ตามลำดับ ทั้งนี้ ตัวเลขตามฐานศุลกากร ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าต่อเนื่องที่ 2,304 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. จากที่ขาดดุล 4,141 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย.

ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีนและยุโรป รวมถึงความยากลำบากในการแข่งขันของสินค้าเกษตรหลายชนิด อาจส่งผลทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 4.0 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 7.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า