Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มิถุนายน 2556

อุตสาหกรรม

[AEC Plus] ปัจจัยบวกเสริมบริโภคเหล็ก ปีมะเส็ง ... ลู่ทางสดใสทั้งตลาดในไทย และกลุ่มอาเซียน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2375)

คะแนนเฉลี่ย

ระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเหมือนจะเติบโตสวนทางกับตลาดเหล็กโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยหนุนภายในประเทศ อย่างการขยายตัวของภาคก่อสร้างของภาคเอกชนและภาครัฐ คอนโดมิเนียม นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักก็มีทิศทางเติบโตค่อนข้างดี อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็ก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ก็ยังเป็นภาพที่ขยายตัวได้ดี ทั้งการใช้เหล็กภายในประเทศและการส่งออก พิจารณาได้จากช่วง 4 เดือนแรก ปีนี้ ปริมาณการใช้เหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.6 คิดเป็นปริมาณ 6,532 พันเมตริกตัน (เร่งตัวขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโต ร้อยละ 9.0) สาเหตุสำคัญที่ปริมาณการใช้เหล็กต้นปีนี้ปรับตัวสูง มาจากการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนทางด้านการส่งออกก็ขยายตัวขึ้นเช่นกัน โดยช่วง ม.ค.-เม.ย. ปีนี้ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีมูลค่าส่งออก 81,496 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 61.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 3.4

ส่วนช่วงครึ่งหลังปีนี้ อุปสงค์เหล็กในประเทศ จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคก่อสร้างที่ขยายตัวเป็นหลัก โดยเฉพาะประเภทที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่อานิสงส์จากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจลดลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก หลังจากค่ายรถส่งมอบรถยนต์ ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรกที่ค้างอยู่จนครบแล้ว ซึ่งปัจจัยฉุดจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กโดยรวมในครึ่งปีหลังหดตัวลง เมื่อเทียบกับฐานที่สูงของช่วงเดียวกันในปี 2555 ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ดี ภาพรวมในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการใช้เหล็กอาจขยายตัวราวร้อยละ 3.75 – 7.50 คิดเป็นปริมาณ 17,240 – 17,860 พันเมตริกตัน โดยเป็นอัตราที่ชะลอลง จากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 12.2

และสำหรับการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทย ช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากผลของการได้รับยกเลิกไต่สวนจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กของออสเตรเลีย บวกกับผลจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มูลค่าส่งออกเหล็กไทยไปยังทั้งสองตลาดนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และโดยภาพรวม จากภาคก่อสร้างในตลาดคู้ค้าต่างประเทศกำลังขยายตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้มูลค่าส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมดของไทยตลอดทั้งปีนี้ เติบโตร้อยละ 13 – 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 250,500 – 266,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นอัตราสูง แม้ว่าจะชะลอลงจากปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 43.6

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม