Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ตุลาคม 2556

การค้า

[AEC Plus] ส่งออกไปจีนปี’ 56 อาจเข้าสู่แดนลบหดตัวราว 1%...โครงสร้างการค้าเริ่มเปลี่ยน จับตา SHFTZ กระชับการค้าไทย-จีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2413)

คะแนนเฉลี่ย

บรรยากาศการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2556 ยังค่อนข้างเปราะบาง แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 (YoY) ในเดือนสิงหาคม มีมูลค่าส่งออก 2,405 ล้านดอลลาร์ฯ สอดรับกับแรงกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจจีน ที่มีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกของจีนไปยังตลาดโลกช่วยดึงการผลิตในประเทศส่งอานิสงส์ต่อสินค้าขั้นกลางไทยเข้าไปรองรับการผลิต อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการเริ่มเติบโตของความเป็นเมืองทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยและเครื่องแต่งบ้านเติบโตอย่างมาก แต่ในภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกยังคงหดตัวร้อยละ 2.9 (YoY) มีมูลค่า 17,434.7 ล้านดอลลาร์ฯ จากหลายปัจจัยฉุดรั้งตามโครงสร้างการส่งออกไทยไปจีนที่เริ่มผันเปลี่ยนไป
แรงฉุดสำคัญยังคงมาจากสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่หดตัวถึงร้อยละ 41.9 (YoY) เนื่องจากการโยกย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการทั้งในไทยและในจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมกับผลของการจำกัดโควต้านำเข้าน้ำตาลทรายของทางการจีน และราคาสินค้ายางพาราปรับตัวลดลง ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลฉุดการส่งออกของไทยไปจีนต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าจะมีแรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผนวกกับการเร่งสะสมสต็อกในช่วงเทศกาลปลายปีอาจช่วยผลักดันการส่งออกไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2556 ปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2556 อาจก้าวสู่แดนลบหดตัวที่ร้อยละ 1.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่หดตัวร้อยละ 2.5 ถึงขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 โดยมีมูลค่าส่งออกกรณีพื้นฐานอยู่ที่ราว 26,600 ล้านดอลลาร์ฯ มีกรอบประมาณการอยู่ที่ระหว่าง 26,200 – 27,000 ล้านดอลลาร์ฯ (จากประมาณการเดิมคาดไว้กรณีพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่หดตัวร้อยละ 4.3 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.3)
สำหรับประเด็นโครงสร้างการส่งออกไปยังจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป นับเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในระยะนับจากนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของไทยไปยังจีน ที่เกิดจากการโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนและยังมีปัจจัยด้านภาวะการแข่งขันในตลาดจีนที่เริ่มส่อเค้าเข้มข้นขึ้น ทำให้สัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปยังจีนปรับลดลง และได้กระจายตัวไปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มรองรับภาคการผลิตอื่นๆ รวมถึงกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้น
นอกจากนี้ การเปิดเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรกของจีนที่ ;เซี่ยงไฮ้” (Shanghai Free Trade Zone: SHFTZ) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 โดยนับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ที่หลายมาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เอื้อประโยชน์จูงใจต่างชาติก้าวสู่แผ่นดินจีน พร้อมทั้งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจไทยอาศัยเซี่ยงไฮ้เป็นทางผ่านสินค้าและแหล่งลงทุนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวรุกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น โดยจะมีการทยอยเปิดเผยรายละเอียดการเปิดเสรีเป็นลำดับไปในช่วงที่เหลือของปี 2556 นี้
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีนเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของจีน (ปี 2554-2558) ทวีความชัดเจนขึ้นในปีนี้ สร้างอานิสงส์ให้สินค้าไทยหลายรายการเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนรองรับการเติบโตดังกล่าว โดยในระยะข้างหน้าอาจเห็นการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนมีหลากหลายกลุ่มสินค้ามากขึ้น ไม่เพียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทต่อสัดส่วนการค้าในภาพรวมการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งการกระจายโครงสร้างกลุ่มสินค้ายังช่วยลดการกระจุกตัวพึ่งพาสินค้าบางกลุ่มและเสริมศักยภาพการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดจีนต่อไปในระยะยาวได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า